ผลของการบำบัดด้วยออกซิเจนที่มีอัตราการไหลสูงต่อดัชนีบ่งชี้ภาวะที่มีออกซิเจนในเลือดลดลง ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน
ณัฐพงศ์ วิบูลย์ศิริชัย*, ณับผลิกา กองพลพรหม, ทายาท ดีสุดจิต, ฉันชาย สิทธิพันธุ์
สาขาวิชาโรคทางการหายใจและ ภาวะวิกฤตทางการหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทคัดย่อ
Background: ภาวะพร่องออกซิเจนในเลือด (hypoxemia) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเส้นเลือดสมองตีบเฉียบพลันและสัมพันธ์กับการเสื่อมถอยของระบบประสาท (neurological deterioration) และอัตราการตายที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ประโยชน์จากการให้การบำบัดด้วยออกซิเจนยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ระดับความรุนแรงของเส้นเลือดสมองตีบอาจส่งผลต่อประโยชน์จากการได้รับการบำบัดด้วยออกซิเจน รูปแบบการหายใจที่ผิดปกติสามารถพบได้บ่อยในผู้ป่วยเส้นเลือดสมองตีบและอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะพร่องออกซิเจนในเลือด High flow nasal cannula (HFNC) มีข้อดีในหลายด้าน เช่น FiO2 ที่สามารถควบคุมได้, ลดแรงต้านทานในช่องจมูก, มีแรงดันบวกในช่วงท้ายของการหายใจออก ในการศึกษานี้ เรามุ่งที่จะประเมินผลการรักษาด้วย HFNC ต่อดัชนีบ่งชี้ภาวะที่มีออกซิเจนในเลือดลดลง (oxygen desaturation index หรือ ODI) และการฟื้นตัวของระบบประสาทในผู้ป่วยเส้นเลือดสมองตีบเฉียบพลันที่มีความรุนแรงระดับปานกลางขึ้นไป เทียบกับกับการไม่ให้ออกซิเจนและให้ออกซิเจนที่มีอัตราการไหลต่ำ
วิธีการศึกษา: เราทำการศึกษาแบบ single-center, ไปข้างหน้า, แบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม โดยทำการศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นเส้นเลือดสมองตีบเฉียบพลันที่เข้ารับการรักษาใน stroke unit ภายใน 72 ชั่วโมงหลังจาก onset โดยเกณฑ์ในการคัดเลือกเข้าการศึกษา คือ 1) อายุมากกว่า 18 ปี 2) ระดับความรุนแรงปานกลางและรุนแรง กำหนดโดย National of Health Stroke Scale (NIHSS) ที่มีค่าตั้งแต่ 5 ขึ้นไปและมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนหรือขา 3) ไม่มีข้อบ่งชี้ต่อการให้การบำบัดด้วยออกซิเจนและ oxygen saturation มากกว่าร้อยละ 92      4) มีความเสี่ยงต่ำต่อการที่จะมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Obstructive sleep apnea) มาก่อน ผู้ป่วยที่ผ่านเกณฑ์ในการคัดเลือกเข้าศึกษาจะถูกแบ่งโดยการสุ่มเป็น 3 กลุ่ม คือ high flow oxygen, low flow oxygen และไม่ได้รับ oxygen ผลลัพธ์หลัก คือ ดัชนีบ่งชี้ภาวะที่มีออกซิเจนในเลือดลดลงในวันแรกของการรักษา ในขณะที่ผลลัพธ์รอง คือ 1) จำนวนของผู้ป่วยที่มี ความพร่องของความอิ่มตัวของออกซิเจน (oxygen desaturation) และ 2) การฟื้นตัวของระบบประสาท (neurological recovery) ประเมินโดยการเปลี่ยนแปลงของค่า NIHSS ที่วันที่ 7 ของการนอนโรงพยาบาล
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยทั้งหมด 30 คนถูกแบ่งเป็นกลุ่มละ 10 คนทั้งหมด 3 กลุ่ม ค่ามัธยฐานของดัชนีบ่งชี้ภาวะที่มีออกซิเจนในเลือดลดลงคือ 6.2 [2.3,7.7] ในกลุ่ม high flow oxygen, 1.1 [0.6,1.8] ในกลุ่ม low flow oxygen และ 5.0 [2.2,8.4] ในกลุ่มที่ไม่ได้ oxygen (p=0.002 ระหว่าง 3 กลุ่ม , p=0.005 เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้ high flow และ low flow oxygen, p=0.910 เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้ high flow oxygen และไม่ได้ oxygen และ p=0.001 เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้ low flow oxygen และไม่ได้ oxygen) อย่างไรก็ตาม ไม่พบความแตกต่างของจำนวนผู้ป่วยที่มีความพร่องของความอิ่มตัวของออกซิเจน นอกจากนั้น พบว่าการฟื้นคืนของระบบประสาทแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่าง 3 กลุ่ม การเปลี่ยนแปลงของค่า NIHSS ทีวันที่ 7 ของการนอนโรงพยาบาลคือ 1.5 [0,2], 3 [0,6] และ -0.5 [-2,0] ในกลุ่ม high flow oxygen, low flow oxygen และไม่ได้รับ oxygen ตามลำดับ oxygen (p=0.011 ระหว่าง 3 กลุ่ม , p=0.247 เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้ high flow และ low flow oxygen, p=0.039 เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้ high flow oxygen และไม่ได้ oxygen และ p=0.005 เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้ low flow oxygen และไม่ได้ oxygen) ยิ่งกว่านั้น กลุ่ม low flow oxygen มีสัดส่วนของผู้ป่วยที่มีการฟื้นคืนของระบบประสาทที่มีนัยสำคัญทางคลินิก (การเปลี่ยนแปลงของค่า NIHSS ตั้งแต่ 4 ขึ้นไป) สูงที่สุด
ข้อสรุป: การบำบัดด้วยออกซิเจนที่มีอัตราการไหลต่ำลด ODI ได้อย่างมีนัยสำคัญในผู้ป่วยเส้นเลือดสมองตีบเฉียบพลันที่มีระดับความรุนแรงปานกลางและรุนแรง เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มอื่น นอกจากนี้การบำบัดด้วยออกซิเจนที่มีอัตราการไหลต่ำและการบำบัดด้วยออกซิเจนที่มีอัตราการไหลสูงทำให้การฟื้นตัวของระบบประสาทดีขึ้น ประโยชน์จากการได้ออกซิเจนในผู้ป่วยเส้นเลือดสมองตีบเฉียบพลันควรมีการศึกษายืนยันในการศึกษาต่อไป
 
ที่มา
จุฬาอายุรศาสตร์ ปี 2562, July-September ปีที่: 32 ฉบับที่ 3 หน้า 177-191