ผลของการใช้เทปยืดหยุ่นและการออกกำลังกายกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวต่อระดับความเจ็บปวด ระดับพร่องความสามารถและความยืดหยุ่นของเอวในผู้ป่วยอาการปวดหลังส่วนล่างชนิดไม่จำเพาะเจาะจง: การศึกษาเชิงทดลองชนิดมีการสุ่ม
ขิ่นนานโอมานวิน, มายโอตูชาขิ่น, ยอดชาย บุญประกอบ*สายวิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประเทศไทย
บทคัดย่อ
การติดเทปยืดหยุ่นเป็นวิธีหนึ่งที่นิยมใช้ในการรักษาการบาดเจ็บทางกีฬาและผู้ป่วยระบบกล้ามเนื้อและกระดูก อย่างไรก็ตาม ผลการรักษาผู้ป่วยอาการปวดหลังส่วนล่างชนิดไม่จำเพาะเจาะจงในระยะกึ่งเฉียบพลันด้วยการติดเทปยืดหยุ่นยังไม่มีหลักฐานการศึกษายืนยันผลที่ชัดเจน การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการรักษารวมระหว่างการติดเทปยืดหยุ่นกับการรักษาแนวอนุรักษ์ต่อระดับอาการปวด ระดับพร่องความสามารถและความยืดหยุ่นของเอว โดยเป็นการศึกษาเชิงทดลองชนิดมีการสุ่ม กระทำในอาสาสมัครที่เป็นผู้ป่วยอาการปวดหลังส่วนล่างชนิดไม่จำเพาะเจาะจงในระยะกึ่งเฉียบพลัน (6-12 สัปดาห์)จำนวน 84 คน เป็นเพศชาย 36 คนและเพศหญิง 48 คน อาสาสมัครในกลุ่มควบคุมได้รับการรักษาชนิดอนุรักษ์นิยมคือได้รับคลื่นเหนือเสียงและการออกกำลังกายกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว ส่วนกลุ่มทดลองได้รับการรักษาด้วยคลื่นเหนือเสียงและเทปยืดหยุ่น โดยทั้งสองกลุ่มได้รับการรักษาสัปดาห์ละ 3 ครั้งเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ ตัวแปรที่ใช้ในการประเมินได้แก่ visual analog scale (VAS) เพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงระดับความเจ็บปวด ดัชนี OsWestry disability เพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงความพร่องความสามารถในการทำหน้าที่และการทดสอบโชเบอร์ชนิดดัดแปลงเพื่อประเมินความยืดหยุ่นของบริเวณเอว ผลการศึกษาพบว่าเมื่อเปรียบเทียบภายในกลุ่มระดับอาการปวด และความพร่องความสามารถลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ รวมถึงความยืดหยุ่นบริเวณเอวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) ที่สัปดาห์ที่สองและสัปดาห์ที่สี่ ในขณะที่การเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มพบว่ากลุ่มทดลองมีการลดลงของระดับอาการปวดและความพร่องความสามารถอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของความยืดหยุ่นของหลังอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเฉพาะในสัปดาห์ที่สี่เท่านั้น (p < 0.001) สรุปผลการศึกษา การรักษาด้วยเทปยืดหยุ่นกับคลื่นเหนือเสียงมีประสิทธิภาพในการรักษาได้คล้ายคลึงกับคลื่นเหนือเสียงกับการออกกำลังกายกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวในผู้ป่วยปวดหลังส่วนล่างชนิดไม่จำเพาะเจาะจง
ที่มา
วารสารเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด ปี 2563, January-April
ปีที่: 32 ฉบับที่ 1 หน้า 95-109
คำสำคัญ
Non-specific low back pain, Ultrasound, Elastic taping, Core stability exercises, ปวดหลังส่วนล่างแบบไม่เจาะจง, ผ้ายืด, การออกกำลังกายกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว, คลื่นเหนือเสียง