แรงสนับสนุนทางสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการฟอกเลือด
สมพร ชินโนรส*, ชุติมา ดีปัญญา, สุภาพร ภูษณวรรณคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยเซนต์หลุยส์
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา เพื่อศึกษาแรงสนับสนุนทางสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการฟอกเลือด กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการฟอกเลือดที่โรงพยาบาลเอกชน 1 แห่ง และคลินิกเวชกรรมด้านไตเทียม 1 แห่ง ในกรุงเทพมหานคร รวมจำนวน 160 คน เครื่องมือการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินแรงสนับสนุนทางสังคม มีค่าความเชื่อมั่น .87 และแบบสอบถามคุณภาพชีวิตในโรคไต มีค่าความเชื่อมั่นอยู่ในช่วง .75-.97 เก็บรวบรวมข้อมูลในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2561 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการฟอกเลือดมีคะแนนเฉลี่ยแรงสนับสนุนทางสังคมโดยรวมในระดับปานกลาง (M = 3.25, SD = .67) และมีคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตโดยรวมในระดับน้อย (M = 2.68, SD = .72)จากการวิจัยครั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่า พยาบาลควรสนับสนุนผู้ดูแลให้ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการฟอกเลือด เพื่อบรรเทาปัญหาด้านร่างกาย รวมทั้งร่วมกับผู้ดูแลในการส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ที่มา
วารสารวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี ปี 2563, January-June
ปีที่: 31 ฉบับที่ 1 หน้า 43-50
คำสำคัญ
Hemodialysis, Quality of life, คุณภาพชีวิต, Social support, แรงสนับสนุนทางสังคม, คุณภาพชี่วิต, การฟอกเลือด