การเปรียบเทียบการให้ฟีนิลเอฟรินในการรักษาภาวะความดันโลหิตต่ำจากการ ระงับความรู้สึกด้วยยาชาทางช่องน้ำไขสันหลังแบบฉีดเข้าเส้นเลือดำทันทีและแบบค่อยๆ ฉีดต่อการเกิดภาวะหัวใจเต้นช้าและอาการข้างเคียงอื่นๆ ในการผ่าตัด คลอดทางหน้าท้อง: การศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มอำพรางฝ่ายเดียว
รติกร อนุสรธนาวัฒน์
แผนกวิสัญญี โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช อ.เมือง จ.สุพรรณบรี 72000
บทคัดย่อ
บทนำ: ปัจจุบันแนะนำให้ใช้ยาฟีนิลเอฟรินเพื่อจัดกาภาวะ ความดันโลหิตต่ำจากการได้รับการระงับความรู้สึกด้วยยาชาทางช่องน้ำไขสันหลังเพราะทำให้เกิดความสมดุลของภาวะกรดด่างในทารก แต่มีข้อเสียที่สำคัญ คือ ภาวะหัวใจเต้นช้า ซึ่งส่งผลต่อปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจต่อนาที
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบอัตราการเกิดภาวะหัวใจเต้นช้าและอัตราการเกิดอาการข้างเคียงอื่นๆ จากการให้ยาฟีนิลเอฟรินระหว่างแบบฉีดเข้าเส้นเลือดดำทันที และแบบค่อยๆฉีดเข้าเส้นเลือดดำภายใน 30 วินาที
วิธีการศึกษา: หญิงตั้งครรภ์ 186 รายที่ได้รับการระงับความรู้สึกด้วยยาชาทางช่องน้ำไขสันหลังในภารผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องที่มีความดันโลหิตต่ำ ถูกแบ่งอย่างสุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม B ได้รับการให้ยาฟีนิบเอฟริน 100 มคก. ใน 10 มล. แบบฉีดเข้าเส้นเลือดดำทันที และกลุ่ม S  ได้รับการให้ยาฟีนิลเอฟริน 100 มคก. ใน 10 มล. แบบค่อยๆ ฉีดเข้าเส้นเลือดดำภายใน 30 วินาที โดยเปิดข้อต่อฉีดยาทั้งสามทางให้สารละลายเกลือแกงค่อยๆ พายาเข้าสู่ร่างกายเพื่อเลียนการทำงานของเครื่องควบคุมให้สารละลายทางหลอดเลือดดำ บันทึกภาวะหัวใจเต้นช้าแบบที่ต้องใช้ยารักษาและรักษาด้วยอะโทรปี 0.6 มิลลิกรัม ทางเส้นเลือดดำทันทีและบันทึกอาการข้างเคียงอื่นๆ
ผลการศึกษา: พบอุบัติการณ์หัวใจเต้นช้าในกลุ่มที่ได้รับยาฟีนิลเอฟรินแบบฉีดเข้าเส้นเลือดดำทันที (กลุ่ม B) มากกว่าแบบค่อยๆ ฉีดเข้าเส้นเลือดดำภายใน 30 วินาที (กลุ่ม S) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (จำนวน 9 ราย (ร้อยละ 9.7) กับจำนวน 1 ราย (ร้อยละ 1.1) ตามลำดับ) , p = 0.009 ภาวะหัวใจเต้นช้าในกลุ่ม B ทุกราย มีอัตราการเต้นของหัวใจ 46-60/นาทีร่วมกับความดันโลหิตต่ำ และไม่สัมพันธ์กับการกดหน้าท้องส่วนบนบริเวณยอดมดลูกเพื่อช่วยทำคลอดทารก แต่ 1 รายที่พบในกลุ่ม S มีอัตราการเต้นของหัวใจ < 45/นาที ซึ่งสัมพันธ์กับการกดยอดมดลูก พบความแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติระหว่าง 2 กลุ่ม ในตัวแปรปริมาณฟีนิลเอฟรินทั้งหมด ภาวะความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ คะแนน Apgar ที่ 1 และ 5 นาที และน้ำหนักทารกแรกคลอด
สรุป: การให้ยาฟีนิลเอฟรินแบบค่อยๆ ฉีดภายใน 30 วินาที เพื่อเลียนแบบการทำงานของเครื่องควบคุมการให้สารละลายทางหลอดเลือดดำ สามารถลดอุบัติการณ์การเกิดภาวะหัวใจเต้นช้าได้ดีกว่าการให้ยาแบบฉีดทันที ในการรักษาภาวะความดันโลหิตต่ำจาการระงับความรู้สึกด้วยยาชาทางช่องน้ำไขสันหลังในการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง
 
ที่มา
วิสัญญีสาร ปี 2563, April-June ปีที่: 46 ฉบับที่ 2 หน้า 80-87
คำสำคัญ
Phenylephrine, Cesarean section, Hypotension, ผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง, ความดันโลหิตตำ, Bradycardia, ความดันโลหิตต่ำ, ฟีนิลเอฟริน, หัวใจเต้นช้า