ผลของการกระตุ้นภาวะขาดเลือดในร่างกาย ในการป้องกันภาวะไตวายเฉียบพลันจากสารทีบรังสีจากการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง: การศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม
พฤตินาถ โกยดุลย์*, พามิลา ทรรศนะวิภาส, นฤตยา วโรทัย, ธีรศักดิ์ ตั้งวงศ์เลิศ, เนาวนิตย์ นาทา, บัญชา สถิระพจน์, อุปถัมภ์ ศุภสินธุ์, อำนาจ ชัยประเสริฐ
หน่วยโรคไต กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฏเกล้า
บทคัดย่อ
ความสำคัญและที่มา โรคไตเรื้อรังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันจากสารทึบรังสี การกระตุ้นให้เกิดภาวะขาดเลือดของอวัยวะ เช่น แขนหรือขา ในร่างกายชั่วคราว อาจมีประโยชน์ในการป้องกันอวัยวะที่สำคัญจากภาวะขาดเลือด เช่น หัวใจ และไต อย่างไรก็ตามประโยชน์ที่ได้จากการกระตุ้นภาวะขาดเลือดในร่างกาย ในการป้องกันภาวะไตวายจากสารทึบรังสียังไม่ชัดเจน วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาประโยชน์การกระตุ้นภาวะขาดเลือดในร่างกายในการป้องกันการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันจากสารทึบรังสี
จากการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในผู้ป่วยโรคไตเรื้องรัง วิธีดำเนินงานวิจัย งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมแบบเปิด เก็บข้อมูลในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีอัตราการกรองของไตน้อยกว่า 60 มล./นาที/พื้นที่มวลกาย 1.73 ตร.ม. ที่ได้รับสารทึบรังสีจากการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในโรงพระมงกุฎเกล้า ในช่วง กรกฎาคม 2561 ถึง มกราคม 2562 โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่ได้รับการกระตุ้นให้เกิดภาวะขาดเลือดในร่างกาย (รัดแขน) และกลุ่มที่ไม่ได้รับการรัดแขน (ควบคุม) ในอัตราส่วน 1:1 โดยการใช้วิธี block of 4 ซึ่งจะรัดแขนด้วยเครื่องวัดความดัน ด้วยความดัน 200 มม.ปรอท นาน 5 นาที หลังจากนั้นคลาย 5 นาที ทั้งหมด 4 รอบ ภายในเวลา 45 นาทีก่อนได้รับสารทึบรังสี โดยเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนอย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยทุกคนจะได้รับการดูแลตามมาตรฐานเพื่อป้องกันภาวะไตวายเฉียบพลันจากสารทึบรังสี ผลการศึกษา ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังทั้งหมด 70 ราย (35 รายในกลุ่มรัดแขน และ 35 รายในกลุ่มควบคุม) อายุเฉลี่ย 73.6 ± 9.9 ปีมีค่าอัตราการกรองผ่านไตก่อนได้รับสารทึบรังสีเฉลี่ย 45.3 ± 12.2 มล./นาที/พื้นที่มวลกาย 1.73 ตร.ม. มีผู้ป่วยชาย 42 ราย (60%) อัตราการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันจากสารทึบรังสีต่ำกว่าในกลุ่มรัดแขน (ร้อยละ 8.57 เทียบกับ ร้อยละ 0), p-value เท่ากับ 0.07 การเปลี่ยนแปลงของค่าครีแอทินินที่ 48 ชั่วโมงเทียบกับเริ่มต้น และ 48 ชั่วโมง เทียบกับที่24 ชั่วโมง ดีกว่าในกลุ่มรัดแขน คือ -0.09 ± 0.16 เทียบกับ -0.02 ± 0.20, p-value เท่ากับ 0.13 และ 0.00 ± 0.12 เทียบกับ 0.08 ± 0.17 มก./ดล., p-value เท่ากับ 0.03 ตามลำดับ การเปลี่ยนแปลงของค่าอัตราการกรองของไตที่ 48 ชั่วโมงเทียบกับ 24 ชั่วโมง ดีกว่าในกลุ่มรัดแขน; -0.0 ± 5.4 เทียบกับ -2.4 ± 6.3 มล./นาที/พื้นที่มวลกาย 1.73 ตร.ม. ผู้ป่วยในกลุ่มรัดแขนมี 25 ราย (ร้อยละ 71.4) ที่มีอาการชาแขนบริเวณที่รัดและมีอาการเจ็บแขนบริเวณที่รัด 18 ราย (ร้อยละ 51.4) ให้คะแนนปวดเฉลี่ย 3.1 ± 1.2 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ซึ่งอาการดีขึ้นทันทีหลังหยุดรัดแขน สรุป การกระตุ้นให้เกิดภาวะขาดเลือดในร่างกายอาจจะสามารถลดอัตราการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันจากสารทึบรังสี โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง
 
ที่มา
เวชสารแพทย์ทหารบก ปี 2563, January-March ปีที่: 73 ฉบับที่ 1 หน้า 27-37
คำสำคัญ
acute kidney injury, Remote ischemic preconditioning, Computed tomography, การกระตุ้นภาวะขาดเลือดในร่างกาย, ไตวายเฉียบพลัน, สารทึบรังสี, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์