การออกกำลังกายบนพื้นผิวที่ต่างกันต่อความสามารถในการทรงตัวและการเดินของผู้สูงอายุที่กระดูกข้อสะโพกหัก
อังคณา พรประไพงานกายภาพบำบัด โรงพยาบาลขัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ
บทคัดย่อ
ภาวะกระดูกข้อสะโพกหักในผู้สูงอายุสูงผลต่อการยืนการเดินและการทำกิจวัตรประจำวันโดยพบอัตราการล้มและหักซ้ำภายใน 4 ปีสูงถึงร้อยละ 75 การออกกําลังกายบนพื้นผิวที่ต่างกันท้าทายความสามารถในการเดินและลดการหกล้มซ้ำ การวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลการออกกําลังกายบนพื้นผิวที่ต่างกันต่อความสามารถในการทรงตัวการเดินและการหกล้มซ้ำในผู้ป่วยที่กระดูกข้อสะโพกหักศึกษาในผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 50 ปีที่กระดูกข้อสะโพกหักจากภยันตรายไม่รุนแรงหลังผ่าตัดรักษา 30 คนแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน ให้ออกกําลังกายบนพื้นแข็งพื้นนุ่มและพื้นหญ้า 3 วันต่อสัปดาห์เป็นเวลา 4 สัปดาห์ วัดผลก่อนและหลังฝึกฯ ด้วยการทดสอบ Time up and go (TU & G), Five times sit to stand (FTSST) และ Sit and reach (SR)เปรียบเทียบข้อมูลทั้งก่อนและหลังฝึกฯกับระหว่างกลุ่ม ด้วยการทดสอบ chi-square, Kruskal Wallis, Wilcoxonsigned rank และ McNemar กำหนดระดับนัยสําคัญที่ 0.05 พบว่าร้อยละ 83.3 เป็นเพศหญิงอายุเฉลี่ย 73.4 ±10.9 ปี ค่ามัธยฐานของเวลาในการทดสอบ TU & G ก่อน-หลังฝึกฯ ของทั้งสามกลุ่มลดลงอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติแต่ไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่ม ค่ามัธยฐานของเวลาในการทดสอบ FTSST และ SR ลดลงอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติในกลุ่มออกกําลังกายบนพื้นนุ่มและพื้นหญ้า พบผู้ป่วยหกล้มซ้ำ 4 คน (ร้อยละ 13.3) นั่นคือการออกกําลังกายบนพื้นผิวที่ต่างกันช่วยส่งเสริมความสามารถและความปลอดภัยในการทรงตัวและการเดินของผู้สูงอายุที่กระดูกข้อสะโพกหักได้
ที่มา
พุทธชินราชเวชสาร ปี 2563, May-August
ปีที่: 37 ฉบับที่ 2 หน้า 226-236
คำสำคัญ
Exercise, การออกกำลังกาย, Balance, Fall, การทรงตัว, Hip fracture, การหกล้ม, กระดูกข้อสะโพกหัก