การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาทาผสมสารสกัดว่านมหาเมฆ 10% กับยาทา ไมนอกซิดิล 5% ในการกระตุ้นการงอกของเส้นผมในอาสาสมัครชายที่มีผมบางจากพันธุกรรม
พิรดา ศรีวิริยกุล*, วิภาเพ็ญ โชคสัมฤทธิ์
สำนักวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
บทคัดย่อ
ยาไมนอกซิดิลเป็นยาทามาตรฐานในการรักษาภาวะผมบางจากพันธุกรรม แต่มีข้อจำกัดจากผลข้างเคียงหลายอย่าง เช่น ผื่นแพ้ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส ขนขึ้นมากผิดปกติบริเวณอื่น เป็นต้น ว่านมหาเมฆ (Curcuma aeruginosa Roxb.) มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ 5α-reductase จึงกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผมได้ดี งานวิจัยมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาทาผสมสารสกัดว่านมหาเมฆ 10% กับยาทาไมนอกซิดิล 5% ในอาสาสมัครชายไทยอายุ 18-60 ปี ที่มีผมบางจากพันธุกรรมระดับ 2 ถึง 4 ตามเกณฑ์ของ Norwood Hamilton จำนวน 24 คน ได้รับการสุ่มเลือกให้ทายาผสมสารสกัดว่านมหาเมฆ 10% หรือยาทาไมนอกซิดิล 5% วันละสองครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ประเมินผลการศึกษาจากจำนวนเส้นผม เส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมอัตราส่วนขน vellus ต่อขน terminal คะแนนประเมินเส้นผมจากภาพถ่าย ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น และความพึงพอใจเมื่อสิ้นสุดการวิจัย ผลการศึกษาพบว่า มีอาสาสมัครอยู่จนครบการวิจัยจำนวน 21 คน อายุเฉลี่ย 38.62 ± 10.14 ปี กลุ่มที่ทายาผสมสารสกัดว่านมหาเมฆ 10% มีความเปลี่ยนแปลงของค่าเฉลี่ยอัตราส่วน ขน vellus ต่อขน terminal ลดลงมากกว่ากลุ่มที่ทายาไมนอกซิดิล 5% อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.026) ส่วนจำนวนเส้นผมและเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมที่เพิ่มขึ้น คะแนนประเมินเส้นผมจากภาพถ่าย และความพึงพอใจหลังรับการรักษาของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงหลังใช้ยาทั้งสองกลุ่ม ดังนั้น สารสกัดว่านมหาเมฆ 10% มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสามารถนำมาใช้รักษาผมบางจากพันธุกรรมในผู้ชายได้
 
ที่มา
วารสารการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ปี 2563, August ปีที่: 27 ฉบับที่ 2 หน้า 28-38
คำสำคัญ
Androgenetic alopecia, Curcuma aeruginosa, minoxidil, ภาวะผมบางจากพันธุกรรม, ว่านมหาเมฆ, ไมนอกซิดิล