ผลของโปรแกรมการฟื้นคืนสู่สุขภาวะต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภท
ดรัณ พงศธรสกุล, เพ็ญนภา แดงด้อมยุทธ์*
คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภทก่อนและหลังได้รับโปรแกรมการฟื้นคืนสู่สุขภาวะ 2) เปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภทระหว่างกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการฟื้นคืนสู่สุขภาวะกับกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ
วิธีการศึกษา: กลุ่มตัวอย่าง คือ   ผู้ป่วยจิตเภทที่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดจำนวน 40 คน สุ่มเข้ากลุ่มทดลอง 20 คนและกลุ่มควบคุม 20 คน โดยได้รับการจับคู่ด้วยเพศและระยะเวลาการเจ็บป่วย กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการฟื้นคืนสู่สุขภาวะ ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) โปรแกรมการฟื้นคืนสู่สุขภาวะของผู้ป่วยจิตเภท 2) แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล 3) แบบประเมินคุณภาพชีวิตขององค์กรอนามัยโลกฉบับภาษาไทย 4)   แบบประเมินระดับการฟื้นคืนสู่สุขภาวะ เครื่องมือทุกชุดผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 คน เครื่องมือชุดที่ 3 มีค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบราคเท่ากับ .93 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและสถิติทดสอบที 
ผลการศึกษา: 1) คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภทหลังเข้าร่วมโปรแกรมการฟื้นคืนสู่สุขภาวะสูงกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมการฟื้นคืนสู่สุขภาวะอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  2) หลังการทดลอง คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภทที่เข้าร่วมโปรแกรมการฟื้นคืนสู่สุขภาวะไม่สูงกว่าคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภทที่ได้รับการพยาบาลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
 
ที่มา
วารสารพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต ปี 2563, May-August ปีที่: 34 ฉบับที่ 2 หน้า 169-187
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, ผู้ป่วยจิตเภท, Schizophrenic Patients, คุณภาพชี่วิต, Recovery oriented program, โปรแกรมการฟื้นคืนสู่สุขภาวะ