ต้นทุนประสิทธิผลของการออกกำลังกายที่เพิ่มความมั่นคงต่อกระดูกสันหลังส่วนคอกับการออกกำลังกายที่เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอในผู้ป่วยปวดคอเรื้อรัง
จุฑาทิพ อาธีรพรรณ*, พรพรรณ บุญธรรม, N Varusuvan
งานกายภาพบำบัด โรวพยาบา่ลเลิดสิน ถนนสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ที่จะวิเคราะห์ต้นทุนประสิทธิผลของการออกกำลังกายที่เพิ่มความมั่นคงต่อกระดูกคอ กับการออกกำลังกายที่เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอในผู้ป่วยปวดคอเรื้อรัง ในมุมมองของสังคม โดยมีการประเมินทางเศรษฐศาสตร์ควบคู่กับการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม วิธีการศึกษามี 2 ส่วน ในส่วนแรกเป็นการศึกษาผลทางคลินิกโดยการเก็บข้อมูลไปข้างหน้าของกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม โดยมีกลุ่มควบคุมเป็นกลุ่มการออกกำลังกายที่เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอและกลุ่มทดลอง คือ กลุ่มการออกกำลังกายที่เพิ่มความมั่นคงต่อกระดูกคอทำการศึกษาในผู้ป่วยที่มีอาการปวดคอเรื้อรังที่มารับการรักษาที่แผนกกายภาพบำบัด โรงพยาบาลเลิดสิน 74 ราย ทำการออกกำลังกาย 6 สัปดาห์ ส่วนที่ 2 เป็นการประเมินทางเศรษฐศาสตร์ด้วยการวิเคราะห์ต้นทุนประสิทธิผลโดยใช้แผนภูมิการตัดสินใจ (Decision tree) เปรียบเทียบผลการรักษาและต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการให้การรักษาทางกายภาพบำบัดร่วมกับการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความมั่นคงต่อกระดูกสันหลังส่วนคอในผู้ป่วยปวดคอเรื้อรังที่มีอาการดีขึ้น กับกลุ่มที่ให้การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอในกรอบเวลา 1 ปี ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ให้การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความมั่นคงต่อกระดูกสันหลังส่วนคอสามารถลดระดับอาการปวด (VAS) และระดับความบกพร่องความสามารถของคอ (NDI) ได้มากกว่ากลุ่มที่ให้การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) ต้นทุนต่อหน่วยของการรักษาผู้ป่วยปวดคอเรื้อรังในกลุ่มที่เพิ่มความมั่นคงต่อกระดูกสันหลังส่วนคอเท่ากับ 10,605.18 บาท ส่วนกลุ่มที่เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอเท่ากับ 10,764.95 บาท การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความมั่นคงต่อกระดูกสันหลังส่วนคอจึงมีความคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอ (Isometric) การวิเคราะห์ความไวของตัวแปรโดยการเปลี่ยนมุมมองในการวิเคราะห์จากมุมมองของสังคมเป็นมุมมองของผู้ให้บริการสุขภาพ เมื่อคิดเฉพาะต้นทุนทางการแพทย์อัตราส่วนของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการให้การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความมั่นคงต่อกระดูกสันหลังส่วนคอแล้วผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น 1 คน เป็นจำนวนเงิน 971.87 บาท และหากต้นทุนค่าเครื่อง PBU มีการเปลี่ยนแปลงไปในช่วงราคาตั้งแต่ 10,000 - 24,000 บาท พบว่าต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มในการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความมั่นคงต่อกระดูกสันหลังส่วนคออยู่ระหว่าง 938.80 – 1,170.29 บาท การจะจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสมต้องคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณความพร้อมของบุคลากร จำนวนผู้ป่วยปวดคอเรื้อรัง รวมถึงระดับความสำคัญของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ และควรส่งเสริมการป้องกันการปวดคอไม่ให้เข้าสู่ระยะเรื้อรัง เนื่องจากมีต้นทุนที่สูง
ที่มา
Journal of The Department of Medical Services ปี 2562, May-June ปีที่: 44 ฉบับที่ 3 หน้า 82-92
คำสำคัญ
cost effectiveness, Economic evaluation, ต้นทุนประสิทธิผล, Chronic neck pain, ปวดคอเรื้อรัง, Isometric exercise, Cervical stabilization exercise, การประเมินทางเศรษฐศาสตร์, การออกกำลังกายที่เพิ่มความมั่นคงต่อกระดูกสันหลังส่วนคอ, การออกกำลังกายที่เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอ