คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเด็กโรคเหา ก่อนและหลังรับการรักษา
ปริชญา งามเชิดตระกูล*, รมร แย้มประทุม, จักรพันธุ์ ศิริบริรักษ์, ณัฐพล อันนานนท์
สาขากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี 20131
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: โรคเหาเป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในเด็ก ผู้ป่วยจะมีอาการคัน เกา เกิดความรู้สึกอับอาย ต้องเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตประจำวันเพื่อป้องกันการติดต่อสู่ผู้อื่น มีขั้นตอนและระยะเวลารักษายาวนาน ข้อมูลเรื่องผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเด็กโรคเหามีอยู่น้อย วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของเด็กที่เป็นโรคเหา และเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตก่อนและหลังรับการรักษา วิธีการ: เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรีได้รับการตรวจ ค้นหาเหาและรักษาด้วยยา 1% permethrin lotion เด็กจำนวน 50 คน ตอบแบบสอบถามประเมินคุณภาพชีวิตโรคผิวหนังในเด็กก่อนและหลังรักษา แบบสอบถามประกอบด้วย 10 คำถาม 30 คะแนน คะแนนมากหมายถึงคุณภาพชีวิตไม่ดีศึกษาและเปรียบเทียบผลคุณภาพชีวิตเด็กที่เป็นโรคเหาก่อนและหลังจากรักษา 2 สัปดาห์ ผล: เด็กที่เป็นเหามีช่วงคะแนนคุณภาพชีวิต 0-23 คะแนน เด็กจำนวนร้อยละ 8 ได้รับผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในระดับมากที่สุด คะแนนเฉลี่ยของเด็กนักเรียนทั้งหมดที่เป็นเหามีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับด้อยลงเล็กน้อย คะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตก่อนและหลังรักษา คือ 5.00 และ 3.16 คะแนน หลังรักษามีค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตดีขึ้น 1.84 คะแนน (95% CI: 0.19, 3.49, p =0.029) คำถามที่มีจำนวนผู้ป่วยได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ เรื่องอาการคัน อยากเกา แสบ หรือเจ็บปวดที่ผิวหนัง คำถามที่มีคะแนนคุณภาพชีวิตดีขึ้นหลังรักษาได้แก่ 1) ความรู้สึกอับอายหรือรำคาญ กระวนกระวาย หงุดหงิดเศร้า 2) การดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันช่วงไปโรงเรียน ผลกระทบต่อการเรียน โดยกลุ่มนักเรียนที่พบว่ามีคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหลังรักษาเหา คือ กลุ่มที่ตรวจไม่พบตัวเหาหลังรักษา และกลุ่มช่วงอายุวัยรุ่น 12 – 15 ปี สรุป: โรคเหาส่งผลให้คุณภาพชีวิตด้อยลงเล็กน้อย การรักษาเหาทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยในภาพรวมดีขึ้น ช่วยให้ลดความรู้สึกอับอาย และส่งผลดีต่อการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจีวันช่วงไปโรงเรียน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่ตรวจไม่พบตัวเหาหลังรักษาและกลุ่มวัยรุ่น
 
ที่มา
Journal of The Department of Medical Services ปี 2562, July-August ปีที่: 44 ฉบับที่ 4 หน้า 54-61
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, คุณภาพชี่วิต, Pediculosis capitis, Children Dermatology Life Quality Index, โรคเหา, การวัดคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคผิวหนังในเด็ก