ความคุ้มค่าในการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยที่มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดเปรียบเทียบระหว่างการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกเพื่อการวินิจฉัยและผ่าตัดแบบไม่ยุ่งยากซับซ้อนกับการขูดมดลูก
อรัญญา ยันตพันธ์, ชลิดา เขมวรานันท์*, อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติกลุ่มงานวิจัยและประเมินเทคโนโลยี โรงพยาบาลราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
บทคัดย่อ
การศึกษาความคุ้มค่าในการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยที่มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดเปรียบเทียบระหว่างการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกเพื่อการวินิจฉัยและผ่าตัดแบบไม่ยุ่งยากซับซ้อนกับการขูดมดลูกมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลการรักษาผู้ป่วยที่มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดเปรียบเทียบระหว่างการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกเพื่อการวินิจฉัยและการผ่าตัดที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน กับการขูดมดลูก และวิเคราะห์ต้นทุนประสิทธิผลของการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก และการขูดมดลูกใช้ข้อมูลผู้ป่วยที่มารับการรักษาภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ณ โรงพยาบาลราชวิถีตั้งแต่วันที่1 มกราคม พ.ศ. 2559 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ประเมินความคุ้มค่าโดยใช้แบบจำลอง Decision tree จากมุมมองทางสังคม ผลการศึกษา พบว่าประสิทธิผลของการรักษาเมื่อติดตามอาการที่ 24 สัปดาห์ในกลุ่มที่รับการขูดมดลูก การหาย (ไม่มีเลือดออกหรือกลับเป็นซ้ำ) เท่ากับร้อยละ 88.1 ส่วนการหายของกลุ่มที่รับการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกเท่ากับร้อยละ 97.7 (p-value =0.11) ส่วนต้นทุนการขูดมดลูกมีต้นทุนมุมมองทางสังคมเฉลี่ยสูงกว่าการรักษาโดยการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก อยู่ 329.83 บาท และเมื่อพิจารณาค่าอัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่มจากการขูดมดลูกเปรียบเทียบกับการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก มีค่า 3,389.83 บาทต่อการไม่มีเลือดออกกลับเป็นซ้ำ ดังนั้น สรุปผลการศึกษาพบว่า การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกให้ประสิทธิผลการรักษาภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดไม่แตกต่างจากการขูดมดลูกในแง่มีการเลือดออกกลับเป็นซ้ำ เมื่อเทียบกับการขูดมดลูกแล้วพบว่าการรักษาโดยการส่องกล้องดีกว่าในด้านผลการรักษาที่แม่นยำและตรงสาเหตุมากกว่า รวมทั้งมีต้นทุนการรักษาในมุมมองทางสังคมต่ำกว่า
ที่มา
Journal of The Department of Medical Services ปี 2562, November-December
ปีที่: 44 ฉบับที่ 6 หน้า 11-19
คำสำคัญ
cost-effectiveness, Abnormal uterine bleeding, Re-bleeding, Dilatation and curettage, Hysteroscopic diagnosis and resection