ประสิทธิผลของแนวปฏิบัติการพยาบาลการวางแผนจำหน่ายต่อความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน การกลับเข้ารักษาซ้ำในโรงพยาบาลและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองชนิดตีบอุดตัน
ธัญพิมล เกณสาคู*, เตือนใจ สินอำไพสิทธิ์, วีรยุทธ ศรีทุมสุข
สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กรุงเทพฯ ประเทศไทย 10400
บทคัดย่อ
การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของแนวปฏิบัติการพยาบาลการวางแผนจำหน่ายต่อความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน การกลับเข้ารักษาซ้ำในโรงพยาบาลและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองชนิดตีบอุดตัน กลุ่มตัวอย่างแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ได้รับการวางแผนการจำหน่ายตามปกติ จำนวน 30 คนและกลุ่มที่ได้รับการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองชนิดตีบอุดตัน จำนวน 30 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบค่าที ผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองชนิดตีบอุดตันกลุ่มทดลองอายุเฉลี่ย 59 ปี ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ร้อยละ 56.7 สถานภาพสมรสคู่ ร้อยละ 80   มีคะแนนเฉลี่ยความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันและคุณภาพชีวิตระยะหลังการทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t40 = -2.629, p  =  .012 และ t58 =  -2.481,  p  =  .016 ตามลำดับ) ส่วนการกลับเข้ารักษาซ้ำในโรงพยาบาลของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองชนิดตีบอุดตันของกลุ่มควบคุมพบจำนวน 2  ราย    และกลุ่มทดลองไม่มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองชนิดตีบอุดตันกลับเข้ารักษาซ้ำในโรงพยาบาลภายใน 1  เดือน แต่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p  =  .150) ดังนั้นเพื่อพัฒนาผลลัพธ์ในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองชนิดตีบ อุดตัน พยาบาลควรมีปฏิบัติการพยาบาลการวางแผนการจำหน่ายที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
 
ที่มา
วารสารพยาบาลทหารบก ปี 2563, September-December ปีที่: 21 ฉบับที่ 3 หน้า 215-224
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, การวางแผนจำหน่าย, คุณภาพชี่วิต, Discharge planning, Ischemic stroke, activity daily livings, hospital readmission, กิจวัตรประจำวัน, การกลับเข้ารักษาซ้ำในโรงพยาบาล, โรคหลอดเลือดสมองชนิดตีบอุดตัน