ประสิทธิผลของน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยต่อการลดค่าดัชนีคราบจุลินทรีย์ในช่องปากเด็กบกพร่องทางสายตา : การวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม
อริสา ศรีคง*, เสมอจิต พิธพรชัยกุล
หน่วยวิจัยเพื่อการพัฒนาการดูแลสุขภาพช่องปาก ภาควิชาทันตกรรมป้องกัน คระทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบ ค่าดัชนีคราบจุลินทรีย์ในช่องปากเด็กบกพร่องทางสายตาระหว่างกลุ่มที่ได้รับน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยและโซเดียมฟลูออไรด์ความเข้มข้น 220 ส่วนต่อล้านส่วน และกลุ่มควบคุม คือ กลุ่มที่บ้วนน้ำยาบ้วนปากที่มีเฉพาะส่วนผสมของโซเดียมฟลูออไรด์ความเข้มข้น 220 ส่วนต่อล้านส่วน เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มมีกลุ่มควบคุม และเป็นการศึกษาแบบไขว้อำพรางทั้ง 2 ฝ่าย กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กบกพร่องทางสายตาอายุตั้งแต่ 8 ปีขึ้นไป จำนวน 65 คน บ้วนน้ำยาบ้วนปากขนาด 20 มิลลิลิตร เป็นเวลา 30 วินาที บ้วน 1 ครั้งต่อวัน หลังการแปรงฟัน เวลาก่อนนอน เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3 เดือน ภายใต้การดูแลของครูประจำหอพักที่ผ่านการอบรม เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ข้อมูลพื้นฐาน แบบสังเกตการแปรงฟัน และแบบตรวจค่าดัชนีคราบจุลินทรีย์ การวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ ใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย การทดสอบไคสแคว์และการทดสอบที ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มทดลองมีตำแหน่งที่มีค่าดัชนีคราบจุลินทรีย์อยู่ในช่วง 0-2 มากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value <0.001) นำค่าเฉลี่ยของค่าดัชนีคราบจุลินทรีย์ของตัวอย่างแต่ละคนมาวิเคราะห์พบว่ากลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยดัชนีคราบจุลินทรีย์ดีกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value = 0.015) และพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value = 0.005) ในการลดคราบจุลินทรีย์ของตำแหน่งที่มีค่าดัชนีคราบจุลินทรีย์เริ่มต้นระดับ 3 ในกลุ่มทดลองดีกว่ากลุ่มควบคุม การศึกษาครั้งนี้สรุปได้ว่าน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยเมื่อใช้ต่อเนื่องไประยะ 3 เดือนจะมีผลลดค่าดัชนีคราบจุลินทรีย์
 
ที่มา
วิทยาสารทันตแพทยศาสตร์ ปี 2562, January-March ปีที่: 69 ฉบับที่ 1 หน้า 38-45
คำสำคัญ
Plaque, คราบจุลินทรีย์, Essential oil mouth rinse, Visually impaired children, น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหย, เด็กบกพร่องทางสายตา