การยึดติดทางคลินิกของวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันชนิดใสระหว่างวัสดุนวัตกรรมไทยกับวัสดุนำเข้าบนฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่ง: การศึกษาแบบมีกลุ่มควบคุมที่มีการจัดกลุ่มด้วยวิธีสุ่ม
ดลหทัย สิทธิพงษ์พร*, วัชราภรณ์ ทัศจันทร์, พสุธา ธัญญะกิจไพศาล, ศิริพร ส่งศิริประดับบุญภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
บทคัดย่อ
การศึกษาทางคลินิกนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบอัตราการยึดติดทางคลินิกของวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันเรซินชนิดใสระหว่างวัสดุนวัตกรรมไทยแอลเอเอสเคลียร์ (LAS-clear) กับวัสดุมาตรฐานที่นำเข้าจากต่างประเทศเดลตันเคลียร์ (Delton clear: Dentsply International, Inc., USA) การศึกษานี้ออกแบบการทดลองแบบสุ่มทำในบุคคลเดียวกันและอยู่ในขากรรไกรเดียวกันในฟันกร้ามแท้ซี่ที่หนึ่ง 120 คู่ฟัน ในเด็กอายุ 6 – 9ปี จำนวน 64 คน โดยสุ่มเคลือบหลุมร่องฟันบนฟันข้างหนึ่งด้วยวัสดุแอลเอเอสเคลียร์ และเคลือบฟันอีกข้างหนึ่งด้วยวัสดุเดลตันเคลียร์ ประเมินผลการยึดติดของวัสดุตามลักาณะการยึดติดคือ 1) การยึดติดอยู่ทั้งหมด 2) การยึดติดบางส่วน 3) การหายไปทั้งหมด ที่ระยะเวลา 6 เดือน และ 12 เดือน วิเคราะห์อัตราการยึดติดของวัสดุทั้งสองด้วยการทดสอบแม็กนีมาร์ (McNemar’s test) ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ผลการศึกษาพบว่าวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันแอลเอเอสเคลียร์มีอัตราการยึดติดอยู่ทั้งหมดร้อยละ 81.0 และ 71.1 ที่ระยะเวลา 6 และ 12 เดือน ตามลำดับ ส่วนวัสดุเดลตันเคลียร์มีอัตราการยึดติดอยู่ทั้งหมดเท่ากับร้อยละ 80.0 และ 66.3 ที่ระยะเวลา 6 และ 12 เดือน ตามลำดับ โดยอัตราการยึดติดของวัสดุทั้งสองชนิดไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระยะเวลา 6 และ 12 เดือน ((p = 1.0 และ 0.54 ตามลำดับ) สรุปผลการศึกษาวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันนวัตกรรมไทยแอลเอเอสเคลียร์มีอัตราการยึดติดเทียบเท่ากับวัสดุนำเข้าเดลตันเคลียร์ ที่ระยะ 12 เดือน
ที่มา
วิทยาสารทันตแพทยศาสตร์ ปี 2564, April-June
ปีที่: 71 ฉบับที่ 2 หน้า 118-126
คำสำคัญ
Pit and fissure sealant, Randomized Clinical Trial, 12 months observation, retention rate, การทดลองแบบสุ่ม, การประเมินผลที่่ 12 เดือน, อัตราการยึดติด, วัสดุเคลือบหลุมร่องฟัน