ประสิทธิภาพยาเอสโตรเจนครีมที่ผลิตขึ้นเองในการรักษาภาวะช่องคลอดแห้ง ในสตรีวัยหมดระดู การทดลองแบบสุ่ม ปกปิดทั้งสองทาง
ฟองฝน ผลจันทร์*, สนธยา พิริยะกิจไพบูลย์, ปิยวดี วุฒิกรสัมมากิจกลุ่มงานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี
บทคัดย่อ
หลักการและเหตุผล: ช่องคลอดแห้งเป็นอาการที่พบบ่อยของสตรีวัยหมดระดู ซึ่งยาเอสโตรเจนครีมทางช่องคลอดขณะนี้ไม่มีขายในท้องตลาด การศึกษานี้ทำเพื่อศึกษาประสิทธิภาพการรักษาภาวะช่องคลอดแห้งในสตรีวัยหมดระดูด้วยยาเอสโตรเจนครีมที่ผลิตขึ้นเองขนาด 0.625 มิลลิกรัมเทียบกับกลุ่มยาหลอกวัสดุและวิธีการทำ: การวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่ม มีกลุ่มควบคุมปกปิดทั้งสองทาง สตรีวัยหมดระดูที่มีอาการช่องคลอดแห้งที่มารับการรักษาแผนกผู้ป่วยนอกกลุ่มงานสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 20 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่มกลุ่มละ 10 รายโดยวิธีสุ่ม 1) กลุ่มยาหลอก จะได้รับยาครีมซึ่งมีส่วนประกอบคือ cetyl alcohol, stearyl alcohol, spermaceti, methyl paraben, propyl paraben,glycerin, sodium lauryl sulfate และน้ำ 2) กลุ่มทดลอง ได้รับยาเอสโตรเจนครีมที่ผลิตขึ้นขนาด 0.625มิลลิกรัมในครีมเบส 1 กรัม โดยทาช่องคลอดทุกวันเป็นเวลา 1 สัปดาห์จากนั้นทาสัปดาห์ละสองครั้งเป็นเวลาทั้งหมด 12 สัปดาห์ วัดค่าเปลี่ยนแปลงดัชนีความสมบูรณ์ของเยื่อบุช่องคลอด การเปลี่ยนแปลงอาการของภาวะช่องคลอดแห้งโดยใช้แบบสอบถามและค่าความเปลี่ยนแปลงของความเป็นกรดด่างของช่องคลอด ในวันแรกที่เข้าโครงการ สิ้นสัปดาห์ที่ 4 และ 12 สัปดาห์หลังได้รับยา
ผลการศึกษา: สตรีวัยหมดระดูจำนวนทั้งหมด 20 ราย มาตามนัดตรวจติดตามครบทุกราย พบว่าดัชนีความสมบูรณ์ของเยื่อบุช่องคลอดในกลุ่มที่ได้รับยาเอสโตรเจนดีขึ้นกว่ากลุ่มยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญหลังจากได้รับยา4 สัปดาห์และ 12 สัปดาห์ (p=0.045, 0.005 ตามลำดับ) โดยค่ามัธยฐานดัชนีความสมบูรณ์ของเยื่อบุช่องคลอดในกลุ่มที่ได้รับยาเอสโตรเจนเท่ากับ 8.75, 61.50, 68.75 เมื่อเทียบกับกลุ่มยาหลอก 15.09, 27.50, 15.00 ในวันแรกที่เข้าโครงการ สัปดาห์ที่ 4 และสัปดาห์ที่ 12 หลังได้รับยาตามลำดับ ส่วนอาการแสดงของช่องคลอดแห้งความเป็นกรดด่างของช่องคลอด และความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูกไม่แตกต่างกัน
สรุป: ยาเอสโตรเจนครีมที่ผลิตในโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์มีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะช่องคลอดแห้งในสตรีวัยหมดระดู ทำให้ค่าดัชนีความสมบูรณ์ของเยื่อบุช่องคลอดเพิ่มขึ้น โดยไม่พบความหนาตัวของเยื่อบุโพรงมดลูกหลังได้รับยา
ที่มา
สรรพสิทธิเวชสาร ปี 2563, January-April
ปีที่: 41 ฉบับที่ 1 หน้า 1-14
คำสำคัญ
vaginal maturation index, estrogen-containing cream, postmenopausal atrophic vaginitis, most bothersome symptoms, ยาเอสโตรเจนครีมที่ผลิตเอง, ภาวะช่องคลอดแห้งในสตรีวัยหมดระดู, ดัชนีความสมบูรณ์ของเยื่อบุช่องคลอด, อาการแสดงของภาวะช่องคลอดแห้ง