ผลของโปรแกรมเสริมสร้างแรงจูงใจในการดูแลตนเองต่อการดูแลตนเองและคุณภาพชีวิตในผู้มีภาวะหัวใจล้มเหลว
นลินี นิยมไทย, อภิญญา ศิริพิทยาคุณกิจ*, สุมลชาติ ดวงบุบผาสาขาการพยาบาลอายุรศาสตร์-ศัลยศาสตร์ โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลองกึ่งเดียววัดผลก่อนและหลังการทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมเสริมสร้างแรงจูงใจในการดูแลตนเองต่อการดูแลตนเองและคุณภาพชีวิตในผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว โดยใช้กรอบแนวคิดทฤษฎีระดับสถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการดูแลตนเองของผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว ร่วมกับการใช้กลยุทธ์การสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนพฤติกรรม กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่ามีภาวะหัวใจล้มเหลวและเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลรามาธิบดี คัดเลือกคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 29 ราย กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับโปรแกรมเสริมสร้างแรงจูงใจในการดูแลตนเองทั้งหมด 3 ระยะ ระยะที่ 1 ส่งเสริมการรู้จักตนเอง กระตุ้นให้เกิดความตระหนักของปัญหาสุขภาพและสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ระยะที่ 2 พัฒนาความรู้และทักษะในการดูแลตนเองในภาวะหัวใจล้มเหลวในสัปดาห์ที่ 1 ขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาล และระยะที่ 3 ส่งเสริมการปฏิบัติพฤติกรรมอย่างต่อเนื่องด้วยการติดตามทางโทรศัพท์หลังจำหน่าย สัปดาห์ละ 1 ครั้ง 4 สัปดาห์ เปิดช่องทางด่วนติดต่อได้ 24 ชั่วโมง รวมระยะเวลาดำเนินโปรแกรม 6 สัปดาห์ การเก็บข้อมูลดำเนินการก่อนเข้าร่วมโปรแกรมสิ้นสุดโปรแกรมทันที และสิ้นสุดโปรแกรม 1 เดือน ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำทางเดียว ผลการวิจัยพบว่า ภายหลังเข้าร่วมโปรแกรม กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนเฉลี่ยการดูแลตนเองและคะแนนคุณภาพชีวิตหลังสิ้นสุดโปรแกรมทันที หลังสิ้นสุดโปรแกรมมาแล้ว 1 เดือนสูงกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมอย่างมีนับสำคัญทางสถิติ ผลของโปรแกรมเสริมสร้างแรงจูงใจในการดูแลตนเองก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลตนเองเพื่อควบคุมการเกิดอาการกำเริบของโรค เพื่อส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
ที่มา
รามาธิบดีพยาบาลสาร ปี 2563, September-December
ปีที่: 26 ฉบับที่ 3 หน้า 290-309
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, โปรแกรมเสริมสร้างแรงจูงใจ, SELF-CARE, การดูแลตนเอง, หัวใจล้มเหลว, Heart failure, คุณภาพชี่วิต, Motivation interviewing