การประเมินต้นทุน-ประสิทธิผลของการคัดกรองมะเร็งหลอดอาหารในผู้ป่วยมะเร็งคอหอยส่วนล่างด้วย วิธี transnasal esophagoscopy เปรียบเทียบกับ rigid esophagoscopy
เอกภพ แสงอริยวนิช*, ธนะรัตน์ อิ่มสุวรรณศรี, อรุณี ไทยะกุลสถาบันมะเร็งแห่งชาติ แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: ผู้ป่วยโรคมะเร็งคอหอยส่วนล่างมักตรวจพบโรคมะเร็งหลอดอาหารร่วมด้วยได้ประมาณร้อยละ 10 แนวทาง การตรวจคัดกรองหลอดอาหารแบบเดิมคือ การส่องกล้อง rigid esophagoscopy (RE) ซึ่งต้องทำในห้องผ่าตัด แต่ในปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองการส่องกล้องด้วยวิธี transnasal esophagoscopy (TNE) แทน ซึ่งทำได้ที่แผนกผู้ป่วยนอก วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาต้นทุน-ประสิทธิผลในการคัดกรองหาโรคมะเร็งหลอดอาหารในผู้ป่วยมะเร็งคอหอยส่วนล่าง ด้วยวิธีการส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร แบบ transnasal esophagscopy เปรียบเทียบกับการส่องกล้องตรวจ แบบ rigid esophagoscopy วิธีการ: ประเมินทางเศรษฐศาสตร์แบบวิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผล โดยใช้แบบจำลองทางเลือกตัดสินใจ ในมุมมองของผู้ให้บริการสุขภาพ ซึ่งทางเลือกในการตัดสินใจ คือ การส่องกล้องตรวจหลอดอาหารด้วยวิธี transnasal esophagoscopy ทำที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกเปรียบเทียบกับการส่องกล้องด้วย rigid esophagoscopy ซึ่งเป็นการส่องกล้องแข็งผ่านช่องปากในห้องผ่าตัด และผู้ป่วยต้อง admit เป็นผู้ป่วยใน ผล: การส่องกล้องแบบ TNE มีต้นทุนต่อผู้ป่วย 1 รายเป็นจำนวนเงิน 18,907.20 บาท ส่วนต้นทุนของการ ส่องกล้องแบบ RE ต่อผู้ป่วย 1 ราย เป็นจำนวนเงิน 12,725.81 บาท โดยต้นทุนส่วนใหญ่ของการส่องกล้องแบบ TNE มาจากต้นทุนลงทุน และต้นทุนส่วนใหญ่ของ RE มาจากต้นทุนค่ารักษาแบบผู้ป่วยใน การประเมินต้นทุนและประสิทธิผลจากแผนภูมิการตัดสินใจโดยจำลองผู้ป่วยจำนวน 1,000 รายพบว่า ต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น หากเปลี่ยนจากการส่องกล้องแบบ RE เป็นการส่องกล้องแบบ TNE เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 4,839,776.07 บาท ประสิทธิผลในการคัดกรองมะเร็งหลอดอาหารเพิ่มขึ้น 57 ราย ดังนั้นต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นในการเปลี่ยนจากการส่องกล้องด้วยวิธี RE เป็น TNE ต่อการคัดกรองผู้ป่วยสำเร็จเพิ่มขึ้น 1 รายเป็นจำนวนเงิน 84,778.95 บาท การวิเคราะห์ความอ่อนไหวของตัวแปรพบว่า ความคุ้มค่าจะเกิดมากขึ้นหากต้นทุนของการตรวจ TNE ลดลง และ/หรือ การตรวจด้วยวิธี RE มีภาวะแทรกซ้อนสูงขึ้น สรุป: การส่องกล้องชนิด TNE เพื่อประเมินรอยโรคในหลอดอาหารในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งคอหอยส่วนล่างมีประสิทธิภาพ และทดแทนการส่องกล้องแบบ RE ได้ อย่างไรก็ตามในการจัดหากล้อง TNE โรงพยาบาลควรคำนึงถึงราคาจัดซื้อ และจำนวนผู้รับบริการเป็นสำคัญ
ที่มา
Journal of The Department of Medical Services ปี 2563, October-December
ปีที่: 45 ฉบับที่ 4 หน้า 147-23
คำสำคัญ
Cost-effectiveness analysis, การประเมินต้นทุน-ประสิทธิผล, การส่องกล้อง, Hypopharyngeal cancer, Esophagoscopy, มะเร็งคอหอยส่วนล่าง, หลอดอาหาร