การวิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผลในกลุ่มยาขัดขวางการจับตัวรับแอนจิโอเทนซินทีโรงพยาบาลระดับตติยภูมิในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
วีณา พร้อมประเสริฐ
กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลราชวิถี ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: ในระหว่างปี  พ.ศ.2560-2562  ค่าใช้จ่ายด้านยาลดความดันโลหิตสูงกลุ่มยาขัดขวางการจับตัวรับแอนจิโอเทนซินในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิมีค่าเฉลี่ย  9.5  ล้านบาทต่อปี  มูลค่าการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติสูงกว่ายาในบัญชียาหลักแห่งชาติถึงสองเท่าในขณะที่ปริมาณการใช้ยาต่ำกว่าสี่เท่าการศึกษาต้นทุนประสิทธิผลสามารถนำมาใช้บริหารจัดการด้านยาให้เกิดประสิทธิภาพได้ วัตถุประสงค์:  เพื่อวิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผลเปรียบเทียบในกลุ่มยาขัดขวางการจับตัวรับแอนจิโอเทนซินระหว่างยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติและยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ วิธีการ: รวบรวมข้อมูลผู้ป่วยนอกโรคความดันโลหิตสูงในเวชระเบียนอิเลคทรอนิกส์ระหว่างวันที่  1  มกราคม  พ.ศ.  2560  ถึงวันที่  30 ธันวาคม  พ.ศ.  2562  คัดเลือกผู้ป่วยที่มีการใช้ยาครั้งแรกและไม่เคยใช้ยามาก่อนใน  6  เดือนติดตามระดับความดันโลหิตหลังใช้ยาในระยะเวลา  24  สัปดาห์  ต้นทุนค่ายารวมถึงยาลดความดันโลหิตสูงกลุ่มอื่น ๆ  เช่น  ACE  inhibitors,  beta-blockers,  calcium channel blockers และยาขับปัสสาวะวิเคราะห์ต้นทุนประสิทธิผลโดยคำนวณจากอัตราส่วนต้นทุนต่อประสิทธิผลส่วนเพิ่มเปรียบเทียบกับ losartan ผล: ผู้ป่วย 2198 ราย เพศชายร้อยละ 38.0 อายุเฉลี่ย 57± 13 ปี ค่าดรรชนีมวลกายเฉลี่ย 27 ± 5 ภาวะโรคร่วมพบมาก  คือ  ไขมันในเลือดสูงร้อยละ  33.94  เบาหวานร้อยละ 9.19  ประสิทธิภาพการลดระดับความดันโลหิตใน  24  สัปดาห์ในขนาดยาระดับต่ำ candesartan และ irbesartan ลดระดับความดันโลหิตช่วงหัวใจบีบตัวอย่างมีนัยสำคัญ (p <.05) olmesartan และ valsartan  ลดระดับความดันโลหิตช่วงหัวใจคลายตัวอย่างมีนัยสำคัญ (p <.001) ในขนาดยาระดับสูง azilsartan และ olmesartan ลดระดับความดันโลหิตช่วงหัวใจบีบตัวและคลายตัวอย่างอย่างมีนัยสำคัญ 
(p  <.05,  p  <.001)  ผลลัพธ์ต้นทุน-ประสิทธิผลพบว่า  valsartan  ในขนาดยาระดับต่ำและ  candesartan  ในขนาดยาระดับสูงมีความคุ้มค่ามากที่สุดการศึกษานี้เป็นการศึกษาจากการใช้ยาจริง จำนวนผู้ป่วยที่ใช้ยาแต่ละชนิด ภาวะและจำนวนโรคร่วมในผู้ป่วยแต่ละรายเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ สรุป: valsartanในขนาดยาระดับต่ำ และ candesartan ในขนาดยาระดับสูงมีผลลัพธ์ต้นทุน-ประสิทธิผลที่มีความคุ้มค่ามากที่สุด
 
ที่มา
Journal of The Department of Medical Services ปี 2563, October-December ปีที่: 45 ฉบับที่ 4 หน้า 54-61
คำสำคัญ
Cost-effectiveness analysis, hypertension, การวิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผล, โรคความดันโลหิตสูง, Angiotensin-II Receptor Blockers, ยาขัดขวางการจับตัวรับแอนจิโอเทนซิน