นวัตกรรมการรักษาด้วยกระแสไฟฟ้าไดอะไดนามิก ร่วมกับการนวดต่ออาการปวดในสตรีวัยทำงานที่มีอาการปวดคอเรื้อรังของกล้ามเนื้อทราพีเซียสส่วนบนข้างขวา
วุฒิสาน แสงแก้ว*, ประภามาศ อังสนาวศิน, ทักษิณ ชานะตา, ยุพารัตน์ แก้วเกตุ, พิมพา คงทัตคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยคริสเตียน
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลแบบเฉียบพลันของการรักษา 2 วิธี คือ 1) การกระตุ้นไฟฟ้าไดอะไดนามิกพร้อมกับการนวด และวิธีที่ 2) การนวดก่อนกระตุ้นไฟฟ้าไดอะไดนามิกที่บริเวณกล้ามเนื้อทราพีเซียสส่วนบนทั้งก่อนและหลังการรักษา ที่มีผลต่อระดับของอาการปวด อุณหภูมิผิวหนัง ความบกพร่องความสามารถของคอ การไหลเวียนเลือด และระดับเริ่มความเจ็บปวดจากแรงกด ในสตรีวัยทำงานที่มีอาการปวดคอเรื้อรังของกล้ามเนื้อทราพีเซียสส่วนบนข้างขวา จำนวน 32 คน อายุระหว่าง 20-40 ปี ซึ่งถูกสุ่มแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย คือกลุ่มศึกษา (จำนวน 16 คน) ได้รับการรักษาด้วยการกระตุ้นไฟฟ้าไดอะไดนามิกผ่านมือผู้รักษาพร้อมกับการนวด และกลุ่มควบคุมได้รับการนวดตามด้วยการกระตุ้นไฟฟ้าไดอะไดนามิก จากนั้นทำการประเมินอาการปวด อุณหภูมิผิวหนังบริเวณกล้ามเนื้อทราพรีเซียสส่วนบน ความบกพร่องความสามารถของคอ การไหลเวียนเลือด และระดับเริ่มความเจ็บปวดจากแรงกด ก่อนและหลังการรักษาทันที โดยใช้แบบประเมินอาการปวด (Visual Analogue Scale)เครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรด(Infrared Thermometer) ดัชนีวัดความบกพร่องของคอ (Neck Disability Index) เครื่องวัดการไหลเวียนเลือด (Vascular Doppler) และเครื่องวัดความเจ็บปวดจากแรงกด (Pain Pressure Algometer) ผลการศึกษาพบว่าทั้ง 2 กลุ่มมีระดับคะแนนความเจ็บปวดและความบกพร่องความสามารถของคอลดลงเมื่อเปรียบเทียบภายในกลุ่ม (Paired Samples t-test; p<0.01) นอกจากนั้นในกลุ่มศึกษาพบว่าระดับเริ่มความเจ็บปวดจากแรงกด อุณหภูมิผิวหนังบริเวณกล้ามเนื้อทราพรีเซียสส่วนบน และการไหลเวียนเลือด เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบภายในกลุ่ม (Paired Samples t-test; p<0.01) และระดับเริ่มความเจ็บปวดจากแรงกดในกลุ่มศึกษาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบระหว่างกลุ่ม (Independent-Samples t-test; p<0.05) ดังนั้นการรักษาด้วยการกระตุ้นไฟฟ้าไดอะไดนามิกโดยผ่านมือผู้รักษาพร้อมกับการนวดให้ผลการรักษาเทียบเท่าการนวดตามด้วยการกระตุ้นไฟฟ้าไดอะไดนามิกในด้านการลดอาการปวดและลดความบกพร่องความสามารถของคอ นอกจากนั้นยังให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพกว่าในด้านการเพิ่มระดับเริ่มความเจ็บปวดจากแรงกด
ที่มา
วารสารมหาวิทยาลัยคริสเตียน ปี 2563, October-December
ปีที่: 26 ฉบับที่ 4 หน้า 41-51
คำสำคัญ
massage, Chronic neck pain, ปวดคอเรื้อรัง, การนวด, Diadynamic current treatment, การรักษาด้วยกระแสไฟฟ้าไดอะไดนามิก