การสกัดกั้นเส้นประสาทในช่องแอดดักเตอร์ด้วยการฉีดยาชาเพียงครั้งเดียว โดยใช้คลื่นความถี่สูงนำทางร่วมกับการใส่ยามอร์ฟีนในช่องไขสันหลัง สำหรับการระงับปวดหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
โสภิต เหล่าชัย*, เฉลิมพงศ์ ไพนุพงศ์, อุทัยวรรณ หาญอยู่, จตุพร บุญยึด, ศักดิ์ศรัณย์ ล้ำเลิศกลุ่มงานวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลกำแพงเพชร กำแพงเพชร ประเทศไทย
บทคัดย่อ
บทนํา : การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเป็นการผ่าตัดที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดระดับปานกลางถึงรุนแรง การสกัดกั้นเส้นประสาทในช่อง adductor เป็นการสกัดกั้นเส้นประสาทส่วนปลายที่ควบคุมความปวดหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมได้ดีเมื่อผสมผสานกับวิธีการระงับปวดด้วยวิธีอื่น
วัตถุประสงค์ : เพื่อเปรียบเทียบผลของการฉีดยาชา (adductor canal block; ACB) กับไม่ฉีดยาชา (no block; NB) ในช่อง adductor โดยผสมผสานกับวิธีการระงับปวดด้วยใส่ยามอร์ฟีนในช่องไขสันหลัง (intrathecal morphine) สำหรับการระงับปวดหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
วิธีการศึกษา : เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบปกปิดสองทางในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจำนวน 80 ราย ทุกรายได้รับการระงับความรู้สึกแบบบล็อกประสาทไขสันหลังร่วมกับใส่ยามอร์ฟีนขนาด 0.2 mg ในช่องไขสันหลัง หลังผ่าตัดสุ่มผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่ม ACB คือกลุ่มที่ได้รับ การฉีดยาชาในช่อง adductor ด้วยการฉีดยาชาเพียงครั้งเดียวโดยใช้คลื่นความถี่สูงนำทาง ใช้ยาชา 0.5% bupivacaine with epinephrine 1:200,000 ทั้งหมด 20 มิลลิลิตร กับกลุ่ม NB คือกลุ่มที่ไม่ฉีดยาชาในช่อง adductor เปรียบเทียบผลลัพธ์หลักคือคะแนนความปวดขณะพักและขณะเคลื่อนไหว ณ เวลา 6, 12 และ 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัดเปรียบเทียบผลลัพธ์รอง ประกอบด้วยความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ quadriceps และ adductor ผลข้างเคียงของยากลุ่ม opioid ระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล และความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อการระงับปวดหลังผ่าตัด
ผลการศึกษา : คะแนนความปวดขณะพักและขณะเคลื่อนไหว ณ เวลา 6, 12 และ 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด พบว่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ แต่มีแนวโน้มที่จำนวนผู้ป่วยที่ไม่ปวดเลย (Numerical rating scale; NRS=0) ในกลุ่ม ACB มากกว่ากลุ่ม NB โดยเฉพาะขณะเคลื่อนไหวข้อเข่า เมื่อควบคุมปัจจัยทางด้าน ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ quadriceps ก่อนการผ่าตัดระยะเวลาการผ่าตัด และการบล็อกเส้นประสาทรอบข้อเข่าโดยศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด พบว่าความปวดขณะเคลื่อนไหวข้อเข่าในกลุ่ม ACB แตกต่างจากกลุ่ม NB อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Odds ratio 0.35; 95%CI 0.13-0.89, p=0.028)
สรุป : การสกัดกั้นเส้นประสาทในช่อง adductor เป็นการสกัดกั้นเส้นประสาทส่วนปลาย สามารถควบคุมความปวดหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมได้ดี โดยเฉพาะความปวดที่เกิดขึ้นขณะเคลื่อนไหวข้อเข่า เมื่อผสมผสานกับวิธีการระงับปวดด้วยการใส่ยามอร์ฟีนในช่องไขสันหลัง
ที่มา
วิสัญญีสาร ปี 2564, April-June
ปีที่: 47 ฉบับที่ 2 หน้า 93-103
คำสำคัญ
intrathecal morphine, Total knee arthroplasty, Multimodal analgesia, การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม, การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข้าเทียม, Adductor canal block, การสกัดกั้นเส้นประสาทในช่องแอดดักเตอร์, ยามอร์ฟีนในช่องไขสันหลัง, การระงับปวดแบบผสมผสาน