การศึกษาประสิทธิภาพของส่วนผสมยาชาที่ต่างกันในการสกัดกั้นแขนงเส้นประสาทบริเวณรักแร้โดยใช้เครื่องคลื่นเสียงความถี่สูง
กัญชณา วิเศษการกลุ่มงานวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลเกาะคา จังหวัดลำปาง ประเทศไทย
บทคัดย่อ
บทนํา : การสกัดกั้นข่ายประสาทเบรเคียลบริเวณรักแร้เป็นวิธีที่นิยมสำหรับการผ่าตัดบริเวณ ศอก แขนท่อนล่าง และมือ เพราะทำได้ง่าย จุดสังเกตชัดเจน และภาวะแทรกซ้อนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับตำแหน่งอื่น ยิ่งใช้ร่วมกับเครื่องคลื่นเสียงความถี่สูงทำให้ปลอดภัย และมีความน่าเชื่อถือ แต่การใช้ยาชาเพียงอย่างเดียวมักไม่ครอบคลุมช่วงหลังผ่าตัด
วัตถุประสงค์ : ศึกษาระยะเวลาการออกฤทธิ์และผลด้านการระงับปวดเมื่อผสมเด็กซาเมธาโซน หรือ มอร์ฟีน อย่างใดอย่างหนึ่งเข้าไปใน 0.25% บิวพิวาเคน
วิธีการศึกษา : เป็นการศึกษาแบบเก็บข้อมูลไปข้างหน้าแบบสุ่มมีตัวควบคุมแบบปกปิดสองด้าน ในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดบริเวณศอก แขนท่อนล่าง หรือมือ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 21 คน ผู้ป่วยทุกคนจะได้รับการสกัดกั้นข่ายประสาทเบรเคียล บริเวณรักแร้ โดยกลุ่มควบคุม (กลุ่ม C) ใช้ส่วนผสมของ 0.5% บิวพิวาเคน 15 มล. และ 2% ลิโดเคน 15 มล. ผสมอะดรีนาลีน 150 มคก. ส่วนกลุ่ม D และกลุ่ม M จะผสมเด็กซาเมธาโซน 4 มก.และมอร์ฟีน 5 มก.ในยาชาตามลำดับ
ผลการศึกษา : กลุ่ม D มีระยะเวลาออกฤทธิ์ของการระงับประสาทสั่งการ (658.4±225.6 นาที) และประสาทรับความรู้สึก (790.1±305.3 นาที) นานที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่ม C และกลุ่ม M อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P 0.01) ปริมาณ opioid ที่ได้ทั้งหมดกลุ่ม D น้อยกว่ากลุ่ม C อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P 0.01) ระยะเวลาที่ได้ยาแก้ปวดครั้งแรกในแต่ละกลุ่มไม่ต่างกัน ส่วนคะแนนความปวดเมื่อเริ่มปวดและที่ 24 ชั่วโมง กลุ่ม D มีคะแนนน้อยที่สุดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุป : การผสมเด็กซาเมธาโซน 4 มก. เข้าไปใน 0.25% บิวพิวาเคน ทำให้เพิ่มระยะเวลาออกฤทธิ์ของการระงับประสาทสั่งการและประสาทรับความรู้สึก คะแนนความปวดหลังผ่าตัดลดลง และลดปริมาณ opioid ที่ได้ทั้งหมดหลังผ่าตัด
ที่มา
วิสัญญีสาร ปี 2564, April-June
ปีที่: 47 ฉบับที่ 2 หน้า 136-142
คำสำคัญ
dexamethasone, morphine, มอร์ฟีน, axillary brachial plexus block, ultrasound-guided, การสกัดกั้นข่ายประสาทเบรเคียลบริเวณรักแร้, เครื่องคลื่นเสียงความถี่สูง, เด็กซาเมธาโซน