ผลของการบริโภคน้ำลูกสำรองต่อระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2
รัตติยา วีระนิตินันท์, สุญาณี พงษ์ธนานิกร*
ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทคัดย่อ
                การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการบริโภคน้ำลูกสำรองในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 กลุ่มตัวอย่างได้แก่ ผู้ป่วยนอกโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรงพยาบาลสองพี่น้อง จังหวัดจันทบุรี จำนวน 63 ราย การศึกษากึ่งทดลองนี้เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2547 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 แบ่งผู้ป่วยเป็นกลุ่มทดลอง 32 ราย และกลุ่มควบคุม 31 ราย กลุ่มทดลองได้รับน้ำลูกสำรองเพื่อบริโภคหลังมื้ออาหาร 3 มื้อ มื้อละ 240 มิลลิลิตร เป็นเวลา 8 สัปดาห์ โดยกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มได้รับการประเมินการบริโภคอาหารจากแบบบันทึกการรับประทานอาหารย้อนหลัง 24 ชั่วโมง และมีการติดตามการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง (fasting plasma glucose; FPG) ทั้งหมด จำนวน 3 ครั้ง คือเมื่อเริ่มการทดลอง (สัปดาห์ที่ 0) สัปดาห์ที่ 4 และ 8 ติดตามผลการเปลี่ยนแปลงระดับค่าไกลโครไซเลทฮีโมโกลบิน (glycosylated hemoglobin; HbA 1c) จำนวน 2 ครั้ง คือ เมื่อเริ่มการทดลอง (สัปดาห์ที่ 0 ) และสัปดาห์ที่ 8                ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มทดลองมีพลังงานทั้งหมดที่ได้รับในแต่ละวัน พลังงานที่ได้จากคาร์โบไฮเดรต ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง และค่าไกลโคไซเลทฮีโมโกลบินลดลง เมื่อเทียบกับก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญ (p< 0.001, p= 0.023, p=0.004, และ p< 0.001 ตามลำดับ) และต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (p= 0.020, p=0.008, p=0.005, และ p=0.001 ตามลำดับ) ปริมาณใยอาหารที่ได้รับต่อวันเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนการทดลอง (p< 0.001) และสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.001) จากผลการวิจัยนี้ แสดงให้เห็นว่า การบริโภคน้ำลูกสำรอง อาจเป็นแนวทางที่จะช่วยลดระดับน้ำตาลในพลาสมาของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
ที่มา
วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล ปี 2550, May-August ปีที่: 17 ฉบับที่ 2 หน้า 120-127
คำสำคัญ
โรคเบาหวานชนิดที่ 2, Type 2 diabetic patient, Malva nut drink, น้ำลูกสำรอง