การศึกษาเปรียบเทียบต้นทุนอรรถประโยชน์ และต้นทุนประสิทธิผลของการรักษาผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษชนิดเกรฟด้วยยาต้านไทรอยด์และสารกัมมันตรังสีไอโอดีน
พิศาล ชุ่มชื่น*, วลีรัตน์ วงษ์เกษม, ฉัตราภรณ์ ุ่ชุ่มจิต
กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: การวิจัยนี้ต้องการเปรียบเทียบต้นทุนผลของการรักษาด้านคุณภาพชีวิตและประสิทธิผลของการรักษาในรูปแบบต้นทุนอรรถประโยชน์ และต้นทุนประสิทธิผลระหว่างยาต้านไทรรอยด์กับสารกัมมันตรังสีไอโอดีนในผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษชนิดเกรฟโรงพยาบาลดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
วิธีดำเนินการวิจัย: เป็นการวิจัยวิเคราะห์ต้นทุนอรรถประโยชน์ และต้นทุนประสิทธิผลของการรักษาเป็นระยะเวลา 6 ปี ในช่วงเวลาตั้งแต่ กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ถึง กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ในผู้ป่วย 182 ราย โดยเป็นผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาต้านไทรอยด์ 151 ราย และสารกัมมันตรังสีไอโอดีน 31 ราย เก็บข้อมูลต้นทุนการรักษา และอรรถประโยชน์ด้วยแบบประเมินคุณภาพชีวิตจากแบบสอบถาม EuroQol – 5 Dimension (EQ-5D) เปรียบเทียบแต่ละชนิดการรักษาด้วย independent t-test
ผลการวิจัย: เมื่อรักษาครบ 2 ปี พบว่า ต้นทุนผู้ป่วยที่รักษาด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีนสูงกว่ายาต้านไทรอยด์ (p<0.01) ผู้ป่วยที่รักษาด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีนมีการเพิ่มของคะแนนอรรถประโยชน์มากกว่าผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาต้านไทรอยด์ (p=0.034) และพบว่า ผู้ป่วยที่รักษาด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีนมีอัตราหายป่วยสูงกว่า ผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาต้านไทรอยด์ (p<0.01) ต้นทุนอรรถประโยชน์ของผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษชนิดเกรฟที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไทรอยด์และของผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษชนิดเกรฟที่ได้รับการรักษาด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีนเท่ากับ 12,305.83 และ 20,186.76 บาท ตามลำดับ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีนมีต้นทุนประสิทธิผลสูงกว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้นไทรอยด์ (578.93 กับ 120.07 บาท ตามลำดับ)
สรุป: ในด้านเศรษฐศาสตร์พบว่า การรักษาผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษชนิดเกรฟด้วยสารกัมมันตรังีไอโอดีนมีต้นทุนอรรถประโยชน์ และต้นทุนประสิทธิผลสูงกว่าการรักษาด้วยยาต้านไทรอยด์ แต่เมื่อพิจารณาด้านผลลัพธ์ทางคลินิก และคุณภาพชีวิต พบว่า ผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษชนิดเกรฟที่รักษาด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีนมีอัตราการหายสูงกว่า การเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิต (อรรถประโยชน์) ดีกว่า ผู้วิจัยมีความเห็นว่า การเลือกการรักษาด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีนเหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีอาการของโรครุนแรง
 
ที่มา
วารสารโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ปี 2564, January-June ปีที่: 17 ฉบับที่ 1 หน้า 30-46
คำสำคัญ
effectiveness, Cost, ต้นทุนอรรถประโยชน์, ต้นทุนประสิทธิผล, Utility, Grave’s disease, โรคไทรอยด์เป็นพิษชนิดเกรฟ