การประเมินต้นทุน-ประสิทธิผลในการรักษาด้วยคลื่นเหนือเสียงความถี่สูงและคลื่นกระแทกในผู้ป่วยกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดของกล้ามเนื้อสะบัก
ธดากรณ์ พรมศร*, อาทิตย์ พวงมะลิโรงพยาบาลนครพิงค์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
บทคัดย่อ
การศึกษานี้เป็นการศึกษากึ่งคู่ขนานสองกลุ่มแบบ Single-blinded experiment โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบต้นทุน-ประสิทธิผลและอรรถประโยชน์ของการรักษาด้วยคลื่นเหนือเสียงความถี่สูงเทียบกับคลื่นกระแทกในผู้ป่วยกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดของกล้ามเนื้อสะบัก กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 56 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม (กลุ่มละ 28 คนโดยวิธีสุ่มอย่างง่าย) กลุ่มที่ 1 ได้รับการรักษาด้วยคลื่นเหนือเสียงความถี่สูง 3 ครั้ง/สัปดาห์ เป็นเวลา 4 สัปดาห์ กลุ่มที่ 2 ได้รับการรักษาด้วยคลื่นกระแทก 1 ครั้ง/สัปดาห์ เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ทำการวัดผลโดยประเมินระดับความเจ็บปวด และประเมินความสามารถของแขนโดยใช้แบบประเมินความสามารถของแขน (DASH) โดยวัดก่อนและหลังการรักษาสัปดาห์ที่ 2 และสัปดาห์ที่ 4 และประเมินคุณภาพชีวิตโดยใช้แบบสอบถามคุณภาพชีวิต (EQ-5D-5L) ก่อนการรักษาและเมื่อสิ้นสุดการรักษาในสัปดาห์ที่ 4 พบว่าหลังการรักษาสัปดาห์ที่ 4 ระดับความเจ็บปวดในกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยคลื่นกระแทกน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยคลื่นเหนือเสียงความถี่สูงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.001) สำหรับความสามารถของแขนและคุณภาพชีวิตไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติระหว่างกลุ่มการรักษา ต้นทุนเฉลี่ยในการรักษาด้วยคลื่นเหนือเสียงความถี่สูงเท่ากับ 1,677.72 บาทต่อคน ต้นทุนเฉลี่ยในการรักษาด้วยคลื่นกระแทกเท่ากับ 727.72 บาทต่อคน สรุปได้ว่าคลื่นกระแทกช่วยลดระดับความเจ็บปวดได้ดีกว่าและต้นทุนเฉลี่ยในการรักษาต่ำกว่าคลื่นเหนือเสียงความถี่สูงหลังจากทำการรักษาผู้ป่วยเป็นเวลา 4 สัปดาห์ คลื่นกระแทกจึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับนำมาใช้ในการจัดการดูแลผู้ป่วยกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดของกล้ามเนื้อสะบัก
ที่มา
วารสารสาธารณสุขล้านนา ปี 2563, July-December
ปีที่: 16 ฉบับที่ 2 หน้า 92-103
คำสำคัญ
cost-effectiveness, ต้นทุนประสิทธิผล, Myofascial pain syndrome, กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืด, Utility, ultrasound diathermy, อรรถประโยชน์, Shockwave therapy, คลื่นเหนือเสียงความถี่สูง, คลื่นกระแทก