ผลของโปรแกรมสุขศึกษาตามแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลตนเองและผลการรักษาของผู้ป่วยโรคต้อหินชนิดปฐมภูมิ
สัมมนา มูลสาร*, สุกัญญา ศรีสง่าคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยแบบทดลอง เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมสุขศึกษาที่ออกแบบโดยใช้แนวคิดแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลตนเองที่ถูกต้องและเพิ่มผลการรักษาของผู้ป่วยโรคต้อหินชนิดปฐมภูมิ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ ผู้ป่วยโรคต้อหินชนิดปฐมภูมิที่เข้ารับการรักษาที่ห้องตรวจตา แผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลบุรีรัมย์ คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามคุณสมบัติที่กำหนด แล้วสุ่มแบบ random เข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 170 ราย กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมสุขศึกษาที่ผู้วิจัยจัดขึ้นจำนวน 2 ครั้ง กลุ่มควบคุมได้รับการสอนตามปกติจากเจ้าหน้าที่ เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 3 ครั้ง คือ ระยะก่อนการทดลอง ระยะติดตามผลครั้งที่ 1 (1-3 เดือน) และครั้งที่ 2 (3 เดือน) ผลการศึกษา พบว่า ในระยะติดตามผลครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 โปรแกรมสุขศึกษามีผลทำให้ผู้ป่วยโรคต้อหินชนิดปฐมภูมิในกลุ่มทดลองมีการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ดีกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในเรื่องต่อไปนี้ คือ การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคซ้ำ (p< 0.001) การรับรู้ความรุนแรงของโรค (p < 0.001) การรับรู้ผลดีของการปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ (p < 0.001) พฤติกรรมการดูแลตนเองในด้านพฤติกรรมการหยอดตาและใช้ยาอย่างถูกต้อง (p < 0.001) การปฏิบัติการหยอดตาที่ถูกต้อง (p < 0.001) และในด้านการมาตรวจตามนัด พบว่า กลุ่มทดลองมีร้อยละของผู้ป่วยที่มาตรวจตามนัดมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในระยะติดตามผลครั้งที่ 1 (ร้อยละ 80.59 และ ร้อยละ 67.65, p= 0.036) และครั้งที่ 2 (ร้อยละ 72.46 และ 55.97, p = 0.023) สำหรับผลการรักษา คือ ความดันลูกตา พบว่า กลุ่มทดลองมีร้อยละของผู้ป่วยที่ความดันลูกตาปกติมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ร้อยละ 98.74 และร้อยละ 87.77, P <0.001) ซึ่งพบในระยะติดตามผลครั้งที่ 2 เท่านั้น จากการวิจัยครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า การจัดโปรแกรมสุขศึกษานี้ สามารถทำให้ผู้ป่วยมีการรับรู้ด้านสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลตนเองและผลการรักษาได้ ผลการศึกษาอาจนำไปใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยโรคต้อหินชนิดปฐมภูมิในโรงพยาบาลอื่นๆ ได้
ที่มา
วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล ปี 2550, May-August
ปีที่: 17 ฉบับที่ 2 หน้า 128-138
คำสำคัญ
Health belief model, primary glaucoma, self care behaviors, พฤติกรรมการดูแลตนเอง, แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ, โรคต้อหินชนิดปฐมภูมิ