การศึกษาเปรียบเทียบลักษณะของสายเสียงขณะใส่ท่อหายใจจากการใช้ cisatracurium 0.1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ร่วมกับยาดมสลบ sevoflurane และการใช้ cisatracurium 0.15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดมดลูกออกทางหน้าท้อง
ปริญญาภรณ์ วัฒนเนติกุล
กลุ่มงานวิสัญญีโรงพยาบาลกาฬสินธุ์
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาเปรียบเทียบลักษณะของสายเสียงขณะใส่ท่อหายใจจากการใช้ cisatracurium 0.1 มก./กก. ร่วมกับยาดมสลบ sevoflurane เปรียบเทียบกับการใช้ cisatracurium 0.15 มก./กก. ในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดมดลูกออกทางหน้าท้อง
รูปแบบและวิธีวิจัย : เป็นการศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มอำพราง 2 ฝ่ายในผู้ป่วย 184 คน โดยสุ่มแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ผู้ป่วยทุกรายจะได้รับยา midazolam และ fentanyl นำสลบด้วย propofol กลุ่มศึกษา (S group) จะได้รับ cisatracurium 0.1 มก./กก. จากนั้นช่วยหายใจผ่านหน้ากากด้วย O2:N2O 2:4 ลิตร/นาที ร่วมกับเปิด sevoflurane 4 % เป็นเวลา 3 นาที กลุ่มควบคุม (C group) จะได้รับ cisatracurium 0.15 มก./กก. และช่วยหายใจผ่านหน้ากากด้วย O2:N2O 2:4 ลิตร/นาที เป็นเวลา 3 นาที จึงเริ่มทำการใส่ท่อหายใจ จากนั้นทำการประเมิน ลักษณะของสายเสียง คุณภาพการใส่ท่อหายใจ สัญญาณชีพ ภาวะแทรกซ้อนในระหว่างและหลังใส่ท่อหายใจ
ผลการศึกษา : ลักษณะของสายเสียงทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (กลุ่ม S สายเสียงเปิดและนิ่ง 92.39 % กลุ่ม C 96.74% p-value 0.193) กลุ่ม S มีค่าความดันโลหิตเฉลี่ยต่ำกว่ากลุ่ม C อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งช่วงก่อนใส่ท่อหายใจ (p-value= 0.007, 95% CI= 1.39,8.44 ) และช่วงหลังใส่ท่อหายใจทันที (p-value= <0.001, 95% CI=4.50,15.71) คุณภาพการใส่และภาวะแทรกซ้อนทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุปผลการศึกษา : การใช้ยาดมสลบ sevoflurane สามารถเสริมฤทธิ์ cisatracurium ขนาด 0.1มก./กก. ในการใส่ท่อหายใจให้ราบรื่นไม่แตกต่างจากการใช้ cisatracurium 0.15 มก./กก.
 
 
ที่มา
วารสารโรงพยาบาลมหาสารคาม ปี 2564, January-April ปีที่: 18 ฉบับที่ 1 หน้า 87-95
คำสำคัญ
Sevoflurane, Intubation, Cisatracurium, การใส่ท่อหายใจ, vocal cords condition, ลักษณะของสายเสียง