ผลของการนวดไทยต่อการลดภาวะซึมเศร้าในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ
ดารุจ อนิวรรตนพงศ์*, ภัทรสุดา คลังศรี
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทคัดย่อ
เหตุผลของการทำวิจัย: ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุซึ่งมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีปัญหาด้านสุขภาพ เพราะเป็นวัยที่ร่างกายเสื่อมถอย ผู้สูงอายุไทยกำลังประสบปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม ทำให้มีผลต่อสภาพจิตใจ โดยเฉพาะภาวะซึมเศร้า การนวดไทยสามารถบำบัดผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้าได้ ซึ่งการนวดไทย ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ลดการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อ และเพิ่มการหลั่งฮอร์โมนเอ็นโดรฟิน ซึ่งเป็นสาเหตุให้ร่างกายผ่อนคลาย และทำให้จิตใจผ่อนคลายด้วย
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของการนวดไทยต่อการลดภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุในศูนย์พัฒนา การจดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางละมุง จังหวัดชลบุรี
วิธีการทำวิจัย: ผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้าทั้งสิ้น 34 ราย ทำการสุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่มทดลอง จำนวน 17 ราย และกลุ่มควบคุมจำนวน 17 ราย เครื่องมือและวิธีในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย 1) แบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานทั่วไปและข้อมูลส่วนบุคคล; 2) แบบประเมินความเศร้า ในผู้สูงอายุของไทย; 3) แบบบันทึกสัญญาณชีพและมาตรวัดภาวะซึมเศร้า; 4) โปรแกรมการนวดไทย; 5) เครื่องวัดสัญญาณชีพ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบน มาตรฐาน สถิติ paired-sample t test, independent samples  t- test, Wilcoxon signed-rank test และ Mann-Whitney
ผลการศึกษา: ผู้เข้าร่วมงานวิจัยทั้งสิ้น 34 ราย ในกลุ่มทดลองมีผลคะแนน TGDS เฉลี่ยเท่ากับ 22.2 ± 3.3 และในกลุ่มควบคุมมีผลคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 21.1 ± 4.4 หลังการบำบัดพบว่าในกลุ่ม ทดลองมีคะแนนเฉลี่ยภาวะซึมเศร้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการบำบัด (P < 0.01) และกลุ่มทดลองคะแนนเฉลี่ยภาวะซึมเศร้าหลังการบำบัดต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัย สำคัญ (P < 0.01)
สรุป: การนวดไทย 4 ครั้ง ติดต่อกัน (วันเว้นวัน) สามารถช่วยลดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้ การศึกษาวิจัยนี้มีประโยชน์อาจใช้เป็นแนวทางการนวดไทยในการบำบัดผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้า เพื่อลดภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้น และแสดงถึงความสำคัญของการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้า
 
ที่มา
Chulalongkorn Medical Bulletin ปี 2562, March-April ปีที่: 1 ฉบับที่ 2 หน้า 135-146
คำสำคัญ
Depression, elderly, Thai traditional massage