การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของยาเม็ดมหาพิกัดตรีผลา ยาเม็ดสารสกัดมหาพิกัดตรีผลากับยาเม็ดสารสกัดมะขามแขกเพื่อบรรเทาภาวะท้องผูก
นราธิป วิเวกเพลิน, สมศักดิ์ นวลแก้ว, ประสบอร รินทอง*
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม 44150
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่ม ปกปิดทั้งผู้เข้าร่วมโครงการและผู้วิจัย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา เปรียบเทียบประสิทธิผลของยาเม็ดและยาเม็ดสารสกัดมหาพิกัดตรีผลาแก้วาตะสมุฏฐานที่มีอัตราส่วนสมอไทย 12 ส่วน มะขามป้อม 8 ส่วน และสมอพิเภก 4 ส่วนกับยาเม็ดสารสกัดมะขามแขกเพื่อบรรเทาภาวะท้องผูก กลุ่มตัวอย่างใน การศึกษาคืออาสาสมัครที่มีภาวะท้องผูกในเขตตําบลเซิม อําเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย จํานวน 201 คน แบ่งกลุ่ม โดยการสุ่มออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับยาเม็ดมหาพิกัดตรีผลาขนาด 500 มิลลิกรัม จํานวน 2 เม็ด กลุ่มที่ได้รับยา เม็ดสารสกัดมหาพิกัดตรีผลาขนาด 250 มิลลิกรัม จํานวน 2 เม็ด และกลุ่มที่ได้รับยาเม็ดสารสกัดมะขามแขกที่มีปริมาณ เซนโนไซด์ 7.5 มิลลิกรัม จํานวน 2 เม็ด โดยทั้ง 3 กลุ่มรับประทานวันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบตรวจ ประเมินอาสาสมัครที่มีภาวะท้องผูก แบบสอบถามอาสาสมัครก่อนการวิจัยและสมุดบันทึกการถ่ายอุจจาระประจําวัน ผลการศึกษาพบว่าอาสาสมัครที่ได้รับยาเม็ดมหาพิกัดตรีผลา ยาเม็ดสารสกัดมหาพิกัดตรีผลา และยาเม็ดสารสกัด มะขามแขกสามารถถ่ายอุจจาระภายใน 24 ชั่วโมงหลังการรับประทานผลิตภัณฑ์คิดเป็นร้อยละ 79.7, 82.5 และ 88.5 ตามลําดับ ซึ่งไม่แตกต่างกันเมื่อเปรียบเทียบทั้งสามกลุ่ม อาสาสมัครที่ได้รับยาเม็ดสารสกัดมะขามแขกมีจํานวนครั้งที่ถ่าย อุจจาระต่อวันมากที่สุดคือ 4 ครั้ง ซึ่งมากกว่าอาสาสมัครที่รับประทานยาเม็ดมหาพิกัดตรีผลาและยาเม็ดสารสกัดมหาพิกัด ตรีผลาที่มีจํานวนครั้งการถ่ายอุจจาระมากที่สุดคือ 2 และ 3 ครั้งต่อวันตามลําดับ นอกจากนี้การรับประทานผลิตภัณฑ์ทั้ง สามชนิดยังทําให้ปริมาณอุจจาระเพิ่มขึ้น ใช้แรงเบ่งลดลง ความพึงพอใจของอาสาสมัครต่อภาพรวมของการถ่ายอุจจาระ เพิ่มขึ้น อาการท้องอืดและเบื่ออาหารลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนรับประทาน อาสาสมัครทุกกลุ่มเริ่มถ่ายอุจจาระ ภายหลังการรับประทานผลิตภัณฑ์ประมาณ 10 ชั่วโมง และส่วนใหญ่ไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ ผลการศึกษาสรุปได้ว่ายาเม็ดและยาเม็ดสารสกัดมหาพิกัดตรีผลาแก้วาตะสมุฏฐานมีประสิทธิผลบรรเทาภาวะ ท้องผูกไม่แตกต่างจากยาเม็ดสารสกัดมะขามแขก
 
ที่มา
วารสารการแพทย์โรงพยาบาลอุดรธานี ปี 2563, May-August ปีที่: 28 ฉบับที่ 2 หน้า 178-191
คำสำคัญ
effectiveness, ประสิทธิผล, Constipation, triphala, maha pikut, senna, ตรีผลา, มหาพิกัดมะขามแขก, ท้องผูก