คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคเอสแอลอี โรงพยาบาลรามาธิบดี
ธนัชพร กาฝากส้ม, ณิชาภา เดชาปภาพิทักษ์*, ธนิษฐา สรวงท่าไม้, พิณทิพย์ งามจรรยาภรณ์, ธเรศ ปิติธรรมภรณ์, นพรัตน์ ฤชากร
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 270 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 ประเทศไทย โทรศัพท์ +66 2201 1779, +66 9393 2494 อีเมล [email protected]
บทคัดย่อ
บทนำ: โรคเอสแอลอี (Systemic lupus erythematosus, SLE) เกิดจากภูมิคุ้มกันทำร้ายตนเอง เป็นโรคเรื้อรัง มีอาการในหลายอวัยวะ อีกทั้งอาจเกิดผลข้างเคียงจากยากดภูมิคุ้มกันหลายชนิด ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงวัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคเอสแอลอี ที่มารับบริการที่โรงพยาบาลรามาธิบดี
วิธีการศึกษา: การศึกษาเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่งแบบภาคตัดขวาง เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามคุณภาพชีวิตกับผู้ป่วยโรคเอสแอลอี ที่เข้ารับบริการทุกราย ในช่วงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ผลการศึกษา: กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 510 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 96.7) ค่าเฉลี่ยอายุเท่ากับ 40.9 ปี  (SD, 13.0) ค่าเฉลี่ยระยะเวลาของการเป็นโรคเท่ากับ 10.5 ปี  (SD, 8.2) ผู้ป่วยส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป (ร้อยละ 54.1) สิทธิการรักษาที่ใช้มากที่สุดคือ สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (ร้อยละ 33.5) โรคเอสแอลอีเป็นโรคที่มีข้อจำกัดในการตั้งครรภ์แต่ผู้ป่วยในกลุ่มตัวอย่างที่มีจำนวนบุตร 3 คน มากถึงร้อยละ 7.2  และมีภาวะแท้งในขณะตั้งครรภ์ต่ำเพียงร้อยละ 17.0 นอกจากนี้ยังพบว่าคุณภาพชีวิตทั่วไป (SF-36) อยู่ในเกณฑ์ดี และคุณภาพชีวิตเฉพาะโรคเอสแอลอี (SLEQoL) อยู่ในระดับปานกลาง ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตพบว่า ผู้ป่วยที่มีอายุมาก และเป็นโรคมานานจะมีคุณภาพชีวิตด้านความสามารถในการ
ทำหน้าที่ของร่ายกายและสุขภาพโดยรวมแย่กว่าผู้ที่มีอายุน้อย และผู้ที่มีระยะเวลาของการเป็นโรคเอสแอลอีไม่นาน
สรุป: ผู้ป่วยโรคเอสแอลอีที่มารับบริการที่โรงพยาบาลรามาธิบดี มีคุณภาพชีวิตค่อนข้างดี และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตคือ อายุและระยะเวลาการเป็นโรค
 
ที่มา
รามาธิบดีเวชสาร ปี 2564, July-September ปีที่: 44 ฉบับที่ 3 หน้า 41-50
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Factors, Systemic lupus erythematosus, คุณภาพชี่วิต, โรคเอสแอลอี, ปัจจัย