ผลของการออกกำลังกายกล้ามเนื้อสะบักแบบประยุกต์ในผู้ที่มีอาการปวดคอ สะบัก และไหล่: การศึกษาแบบสุ่ม
สายแก้ว เจือจันทร์*, วนิดา แก้วมุณี, กฤตยชญ์ ทองนุ่น, จุฑานันท์ พรหมอินทร์, ธวัชชัย แซ่เล่า, นุชนาถ อัศววงศ์สวัดิ์
สาขาวิชากายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
บทคัดย่อ
ที่มาและความสำคัญ: การใช้สมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานส่งผลให้กล้ามเนื้อคอ สะบัก และไหล่ทำงานไม่สมดุล ก่อให้เกิดอาการปวดและนำไปสู่กล้ามเนื้ออ่อนแรง อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายคอและไหล่มีความหลากหลายและไม่เฉพาะเจาะจงกับปัญหา
วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการออกกำลังกายกล้ามเนื้อสะบักแบบประยุกต์ในผู้ที่มีอาการปวดคอ สะบัก และไหล่
วิธีการวิจัย: ผู้เข้าร่วมการศึกษาจำนวน 46 คน ถูกสุ่มเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมโดยวิธีการแบ่งกลุ่มจะได้รับการปกปิดจากผู้วิจัยและผู้ประเมิน กลุ่มทดลองจะได้รับการออกกำลังกายกล้ามเนื้อสะบักแบบประยุกต์ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 6 สัปดาห์ และกลุ่มควบคุมได้รับการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ 2 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 6 สัปดาห์ ทั้งสองกลุ่มจะได้รับการประเมินดัชนีความบกพร่องความสามารถของคอ ระดับอาการปวด และแรงหดตัวของกล้ามเนื้อ upper trapezius, rhomboid และ serratus anterior ก่อนและหลังเข้าร่วมการฝึก
ผลการวิจัย: ผลการศึกษาพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของค่าดัชนีความบกพร่องของคอ (p<0.01) ระดับอาการปวด (p<0.001) ก่อนและหลังการฝึก แต่ไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มเมื่อเปรียบเทียบค่ากลางของแรงในการหดตัวของกล้ามเนื้อ upper trapezius, rhomboid และ serratus anterior ทางด้านขวา พบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่ม (p<0.05)
สรุปผล: การออกกำลังกายกล้ามเนื้อสะบักแบบประยุกต์สามารถลดความบกพร่องของคอ อาการปวด และเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อบริเวณคอสะบักและไหล่เมื่อเปรียบเทียบกับการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
 
ที่มา
วารสารกายภาพบำบัด ปี 2564, January-April ปีที่: 43 ฉบับที่ 1 หน้า 31-44
คำสำคัญ
Neck and shoulder pain, Forward head posture, Modified scapular exercise, Smartphone use, ปวดคอและไหล่, คอยื่น, การออกกำลังกล้ามเนื้อสะบักแบบประยุกต์, การใช้มือถือ