ประสิทธิผลของยาเอฟีดรีนในการป้องกันภาวะหนาวสั่นภายหลังการระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกาย
ชนม์รัตน์ กาญธนะบัตร
กลุ่มงานวิสัญญี โรงพยาบาลปทุมธานี 7 ถนนปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว ตำบลบางปรอก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี 12000
บทคัดย่อ
ภาวะหนาวสั่นภายหลังการระงับความรู้สึกเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้ป่วย โดยเพิ่มการใช้ออกซิเจนของร่างกาย ดังนั้น ทำให้เสี่ยงต่อภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะเลือดเป็นกรด และสร้างความไม่สุขสบายให้แก่ผู้ป่วย การศึกษานี้ต้องการเปรียบเทียบอุบัติการณ์การเกิดภาวะหนาวสั่นในผู้ป่วย ที่ได้รับการระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกายระหว่างการให้ยา Ephedrine และ Placebo โดยทำการศึกษา แบบไปข้างหน้าแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม ผู้ป่วยในการศึกษาจำนวน 108 ราย American Society of Anesthesiologists (ASA 1-3) ได้รับการระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกายและถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม โดยการสุ่มด้วยคอมพิวเตอร์ คือกลุ่มที่ได้รับ Normal saline (n=54) และกลุ่มที่ได้รับ Ephedrine 9 มิลลิกรัม (n=54) ทางหลอดเลือดดำภายหลังการระงับความรู้สึก มีการบันทึกสัญญาณชีพ อุณหภูมิกาย ระดับของภาวะ หนาวสั่น (shivering scale) และบันทึกภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจเต้นเร็ว ผลการศึกษา พบอุบัติการณ์ภาวะหนาวสั่นหลังให้การระงับความรู้สึกในกลุ่มที่ได้รับ Ephedrine น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับ Normal saline อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.006) โดยพบผู้ป่วยที่มีภาวะหนาวสั่นระดับ 3 ในกลุ่มที่ได้รับ Normal saline มากกว่ากลุ่มที่ได้รับ Ephedrine อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.020) อุณหภูมิกายกลุ่มที่ได้รับ Ephedrine ลดลงน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับ Normal saline อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  (p<0.001) การศึกษานี้ พบว่าการให้ ephedrine ในขนาด 9 มิลลิกรัมทางหลอดเลือดดำภายหลังการระงับความรู้สึกสามารถลดอุบัติการณ์การเกิดภาวะหนาวสั่นได้โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง
 
ที่มา
วารสารการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ปี 2565, August ปีที่: 28 ฉบับที่ 2 หน้า 108-120
คำสำคัญ
Ephedrine, General anesthesia, ภาวะหนาวสั่น, ป้องกัน, การระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกาย, prevention shivering, เอฟีดรีน