ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกายที่มีลีแวนเป็นส่วนประกอบ
อภิรดี วรรังสฤษฏิ์, ณัฏฐิณี ธีรกุลกิตติพงศ์, ภูรีพัทธ์ อรรถเวชกุล, วิทวัส แจ้งเอี่ยม*
คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยบูรพา
บทคัดย่อ
ที่มาของปัญหา: ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่เป็นครีมเบสมีคุณสมบัติเป็นสารให้ความนุ่มลื่น เมื่อทาลงบนผิวจะช่วยเติมเต็มช่องว่างระหว่างเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวมีความเรียบเนียน ลีแวนมีคุณสมบัติเป็นสารฮิวเมกเตนท์เมื่อนำมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผลิตภัณฑ์โดยเพิ่มความสามารถในการดูดน้ำจากสิ่งแวดล้อม เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง และลดการสูญเสียน้ำผ่านผิวหนัง ซึ่งเป็นคุณสมบัติของสารออคคลูซีฟอีกด้วย
 
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิภาพและอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกายที่มีลีแวนเป็นส่วนประกอบ
วิธีการศึกษา: การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มชนิดมีกลุ่มควบคุมแบบปกปิดสองทางชนิดทดลองภายในคนเดียวกัน โดยทำการทดลองในประชากรไทย อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ทั้งสองเพศในจังหวัดชลบุรี จำนวน 28 คน อาสาสมัครจะได้รับการสุ่มเป็นสองกลุ่ม โดยทั้งสองกลุ่มจะได้รับผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกายทั้ง 2 สูตร คือ สูตรลีแวนและสูตรครีมเบสเหมือนกัน แต่ทั้งสองกลุ่มจะมีวิธีการทาแตกต่างกัน ผลลัพธ์คือ ความชุ่มชื้นของผิว ค่าการสูญเสียความชุ่มชื้นผ่านผิวหนัง อาการไม่พึงประสงค์และความพึงพอใจของการใช้ผลิตภัณฑ์ ช่วงก่อนการทดลองและหลังการทดลองในระยะเวลา 7 วัน การประเมินประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ใช้สถิติ Wilcoxon signed rank test กำหนดนัยสำคัญทางสถิติเป็น p < 0.05
ผลการศึกษา: ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกายสูตรลีแวนทำให้ผิวมีค่าความชุ่มชื้นของผิวเพิ่มขึ้นหลังทาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 7 วัน มากกว่าสูตรครีมเบส โดยสูตรลีแวนทำให้ความชุ่มชื้นผิวเพิ่มขึ้นเป็น 42.6 A.U. และสูตรครีมเบสทำให้ความชุ่มชื้นผิวเพิ่มขึ้นเป็น 31.8 A.U. (p < 0.05) ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกายสูตรลีแวนทำให้ผิว มีค่าการสูญเสียน้ำผ่านผิวหนังลดลงหลังทาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 7 วัน และลดลงมากกว่าสูตรครีมเบส โดยสูตรลีแวนทำให้ค่าการสูญเสียน้ำผ่านผิวหนังลดลงเป็น 7.8 g/hm2 และสูตรครีมเบสทำให้ค่าการสูญเสียน้ำผ่านผิวหนังลดลงเป็น 10.7 g/hm2 (p < 0.05) ไม่พบผลข้างเคียงจากการใช้ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 สูตรของอาสาสมัคร
สรุป: จากผลการศึกษาพบว่า ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกายสูตรลีแวนสามารถเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวและลดการสูญเสียน้ำผ่านผิวหนังดีกว่าสูตรครีมเบส ทั้งในการใช้ระยะสั้นและระยะยาว และมีความปลอดภัย ซึ่งสูตรลีแวนสามารถออกฤทธิ์ได้ดีทั้งในคนที่มีสภาพผิวแห้งและแห้งมาก ดังนั้นการใช้ลีแวนเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกายจึงมีประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ได้
 
ที่มา
วารสารศูนย์การศึกษาแพทยศาสตร์คลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า ปี 2564, July-September ปีที่: 38 ฉบับที่ 3 หน้า 390-399
คำสำคัญ
skin, Levan, moisturizing, polysaccharide, ลีแวน, ความชุ่มชื้น, พอลิแซ็กคาไรด์, ผิวหนัง