การศึกษาต้นทุนประสิทธิผลของการคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดของโรงพยาบาลตะกั่วป่า
กชกร หะรารักษ์กลุ่มงานโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
บทคัดย่อ
ที่มา: การได้ยินเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการพูดและพัฒนาการทางภาษา หากเด็กมีปัญหาสูญเสียการได้ยินตั้งแต่เด็กจะทำให้เกิดความพิการในด้านการสื่อความหมาย
วัตถุประสงค์: ผู้ศึกษามีความประสงค์ในการศึกษาต้นทุนประสิทธิผลของโปรแกรมการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดทุกรายด้วยเครื่องวัดการตรวจวัดเสียงสะท้อนจากหูชั้นในของโรงพยาบาลตะกั่วป่า โดยศึกษาในมุมมองของผู้ให้บริการสุขภาพ
วิธีการศึกษา: ประชากรที่ศึกษาคือทารกแรกเกิดทุกรายในโรงพยาบาลตะกั่วป่าจำนวน 4,048 ราย ตั้งแต่ 1 มกราคม ปี พ.ศ.2558 ถึง 1 มกราคม พ.ศ.2563 รวมทั้งหมด 5 ปี การศึกษาโดยการนำข้อมูลค่าใช้จ่ายมาวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทารกแรกเกิดที่มีความเสี่ยงสูง และ ทารกแรกเกิดทุกราย
ผลการศึกษา: ผลการวิเคราะห์ประสิทธิผลของการตรวจการได้ยินในทารกแรกเกิดที่มีความเสี่ยงสูงจำนวน 607 ราย พบว่า ต้นทุนในการคัดกรองมีจำนวนเงินทั้งสิ้น 107,481.49 บาท เฉลี่ย 21,496.30 บาทต่อปี ต้นทุนต่อราย 422.25 บาท ส่วนในทารกแรกเกิดทุกรายจำนวน 4,048 ราย พบว่าต้นทุนในการคัดกรองมีจำนวนเงินทั้งสิ้น 701,842.24 บาท เฉลี่ย 140,368.45 บาทต่อปี ต้นทุนต่อราย 173.38 บาท ทั้งนี้จากโปรแกรมการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดทุกรายตรวจพบผู้ป่วยจำนวน 12 ราย ที่ตรวจการได้ยินด้วยเครื่องวัดการตรวจวัดเสียงสะท้อนจากหูชั้นในไม่ผ่าน และตรวจการได้ยินระดับก้านสมองไม่ผ่านทั้งหมด 3 ราย เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง 1 ราย และกลุ่มเสี่ยงต่ำ 2 ราย อัตราส่วนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อจำนวนที่คัดกรองเมื่อเปรียบเทียบทั้งสองกลุ่ม คิดเป็น 233,947.41 บาทต่อการคัดกรอง 1 ราย ทั้งนี้ทารกแรกเกิดที่ตรวจไม่ผ่าน 3 รายได้รับการส่งต่อ และได้รับการรักษาด้วยการใส่ประสาทหูเทียมจำนวน 2 ราย โดยประเมินค่าใช้จ่ายประมาณ 1 ล้านบาทต่อราย การวิเคราะห์ความไวของตัวแปร สำหรับการตรวจคัดกรองแบบทุกราย พบว่า ค่าความชุกของภาวะสูญเสียการได้ยินในทารกแรกเกิดมีผลต่อต้นทุนประสิทธิผลของการคัดกรองแบบทุกราย และค่ามีผลรองลงมา คือ ค่าเครื่อง OAE และค่าแรงเจ้าหน้าที่ตรวจ OAE ตามลำดับ
สรุป: การศึกษานี้พบว่าการคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดทุกรายด้วยเครื่องวัดการตรวจวัดเสียงสะท้อนจากหูชั้นในของโรงพยาบาลตะกั่วป่าใช้ต้นทุนที่สูง แต่มีประสิทธิผลที่สูงและคุ้มค่าในการจ่ายเพิ่มเพื่อค้นหาผู้ป่วยที่มีภาวะสูญเสียการได้ยินตั้งแต่แรกเกิด เพื่อจะได้รักษา ฟื้นฟูต่อไป
ที่มา
วารสารหู คอ จมูก และใบหน้า ปี 2563, July-December
ปีที่: 21 ฉบับที่ 2 หน้า 18-30
คำสำคัญ
Otoacoustic emission (OAE), Automated auditory brainstem response (AABR), Conventional auditory brainstem response (CABR), เครื่องวัดการตรวจวัดเสียงสะท้อนจากหูชั้นใน (OAE), เครื่องตรวจการได้ยินระดับก้านสมองแบบอัตโนมัติ (AABR), เครื่องตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง (CABR)