ประสิทธิผลและผลข้างเคียงของยาอัมรินทร์ในการบำบัดอาการชามือเท้า และปวดเมื่อย: การศึกษาเบื้องต้น
ชัยวัฒน์ จัตตุพร*, ธันยพร แก้วสนธยา, พจวรรณ ธรรมเจริญ, เบญจา คำแหง, เสาวคนธ์ อัศวศรีสุวรรณWangchan District Hospital, Wangchan District 21210, Rayong Province
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลและผลข้างเคียงจากการใช้ยาตำรับอัมรินทร์ในการบำบัดอาการชามือเท้า และอาการปวดเมื่อย, เปรียบเทียบกับยาหลอก, ในผู้ป่วยที่มาตรวจรักษาที่โรงพยาบาลวังจันทร์ จังหวัดระยอง 48 คน. ผู้ป่วย 25 คน เป็นกลุ่มทดลองได้รับยาตำรับอัมรินทร์ และ 23 คน เป็นกลุ่มควบคุมได้รับยาหลอก. หลังจากเริ่มการทดลอง 15 วัน มีผู้ป่วยกลุ่มตัวอย่างเหลือเพียงกลุ่มละ 17 คน และเมื่อสิ้นสุดโครงการครบ 3 เดือน เหลือกลุ่มตัวอย่าง 11 คน. ผู้ที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นหญิง อายุ 41-60 ปี ป่วยเป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง. ก่อนเริ่มการทดลอง 15 วัน ผู้ป่วยในกลุ่มควบคุมส่วนใหญ่ได้รับยา NSAIDs และในกลุ่มทดลองใช้ยาพาราเซตามอล. หลังจากเริ่มต้นการทดลอง 15 วัน ทั้งกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีอาการดีขึ้น แต่ไม่แตกต่างกันโดยนัยสถิติ (ค่าพี > 0.05) เมื่อให้ยาครบ 3 เดือน ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มมีอาการดีขึ้นแต่ไม่แตกต่างกันโดยนัยสถิติ (ค่าพี > 0.05). พบผลข้างเคียงจากการให้ยา 3 คน โดยมีอาการเพียงเล็กน้อย และจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบการทำงานของตับ ไต อยู่ในเกณฑ์ปกติ. ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มมีความพึงพอใจในการรักษาร้อยละ 80 และในกลุ่มทดลองพอใจมากร้อยละ 20. การที่ผลการทดลองไม่พบความแตกต่างทางสถิติระหว่าง 2 กลุ่ม อาจเนื่องจากกลุ่มตัวอย่างมีจำนวนน้อยเกินไป, อัตราหยุดร่วมโครงการสูง, หรืออาจเป็นเพราะอาการที่ใช้เป็นตัวชี้วัดไม่เฉพาะเจาะจงพอ. ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไปคือเพิ่มจำนวนประชากรศึกษา
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2550, September-December
ปีที่: 5 ฉบับที่ 3 หน้า 242-249
คำสำคัญ
Humbness of the extremities, Myalgia, Ya Amarin, ปวดเมื่อย, ยาตำรับอัมรินทร์, อาการชามือเท้า, โรคความดันโลหิตสูง, โรคเบาหวาน