ประสิทธิผลของฟ้าทะลายโจรในการบรรเทาอาการของโรคไข้หวัดใหญ่
วิรุฬห์ พรพัฒน์กุล, อัญชลี จูฑะพุทธิ*, อุดมลักษณ์ สุวรรณคีรีInstitute of Thai Traditional Medicine, Department for the Development of Thai Traditional and Alternative Medicine
บทคัดย่อ
ยาเม็ดและแคปซูลฟ้าทะลายโจรเป็นยาจากสมุนไพรที่บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อใช้บรรเทาอาการโรคหวัด. อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานการวิจัยทางเวชกรรมเพื่อแสดงประสิทธิผลของยานี้ในโรคไข้หวัดใหญ่. ดังนั้น จึงได้ดำเนินการวิจัยทางเวชกรรมเพื่อศึกษาว่าฟ้าทะลายโจรจะสามารถบรรเทาอาการของโรคไข้หวัดใหญ่เช่นเดียวกับในโรคหวัดหรือไม่. งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาควบคุมแบบสุ่มเปิดฉลากในหลายศูนย์ที่ดำเนินการในสถานบริการสาธารณสุขและโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ในผู้ป่วยที่มีไข้ 38 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่า, มีอาการทางระบบการหายใจและมีอาการหลักอื่นมาไม่เกิน 36 ชั่วโมง, และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่. จากนั้นแบ่งผู้ป่วยแบบสุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม : กลุ่มที่ 1 ได้รับยาพาราเซตะมอลขนาด 1 กรัม ทุก ๆ 6 ชั่วโมง หากมีอาการไข้ ปวดศีรษะหรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ. กลุ่มที่ 2 ได้รับยาพาราเซตะมอลขนาดเท่ากันร่วมกับแคปซูลฟ้าทะลายโจรในขนาด 1.6 กรัม วันละ 4 เวลา เมื่อมีอาการ. บันทึกอุณหภูมิร่างกายและความรุนแรงของอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ได้แก่ คัดจมูก / น้ำมูกไหล, เจ็บคอ, ไอ, ปวดศีรษะ, รู้สึกไม่สบาย, ปวดเมื่อยตัว, อ่อนเพลีย, รู้สึกหนาว รวมทั้งอาการโดยรวมในวันแรกที่เข้าร่วมโครงการ วันที่ 2, 4 และ 6 ของการรักษา โดยใช้ visual analog scale. เมื่อจบการศึกษา มีผู้ป่วยที่ร่วมโครงการวิจัยในกลุ่มที่ 1 จำนวน 10 คน กลุ่มที่ 2 จำนวน 15 คน. ผู้ป่วยในกลุ่มที่ 2 มีอุณหภูมิร่างกาย, ความรุนแรงของอาการโดยรวม และความรุนแรงของอาการเกือบทุกอาการยกเว้นอาการไอ น้อยลงกว่าเมื่อวันแรกอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่วันที่ 2 ของการรักษา ขณะที่ผู้ป่วยกลุ่มที่ 1 ในวันที่ 2 ของการรักษา เฉพาะอุณหภูมิร่างกาย อาการโดยรวม และความรู้สึกไม่สบายเท่านั้นที่น้อยกว่าวันแรกอย่างมีนัยสำคัญ. เมื่อเปรียบเทียบระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม พบว่าความรุนแรงของอาการไอ อ่อนเพลีย และอาการโดยรวมของกลุ่มที่ได้รับทั้งพาราเซตะมอลและฟ้าทะลายโจรน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับพาราเซตะมอลอย่างเดียวอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่วันที่ 4 ของการรักษา. ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยกลุ่มที่ 2 เลือกที่จะใช้ยาเดิม หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่อีก ขณะที่เพียงร้อยละ 20 ของผู้ป่วยกลุ่มที่ 1 จะใช้ยาเดิม. จำนวนผู้ป่วยที่เลือกใช้ยาเดิมและที่เลือกใช้ยาใหม่ของทั้งสองกลุ่มแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ สรุปได้ว่า การศึกษานี้แสดงว่าเมื่อใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาพาราเซตะมอลสามารถลดความรุนแรงของอาการโดยรวมของไข้หวัดใหญ่และช่วยให้อาการหลายอย่างของไข้หวัดใหญ่ทุเลาลงได้เร็วกว่าเมื่อได้รับยาพาราเซตะมอลอย่างเดียว ผลการวิจัยนี้ได้ช่วยสนับสนุนการแนะนำให้ใช้ฟ้าทะลายโจรสำหรับไข้หวัดใหญ่ในสาธารณสุขมูลฐานและในบัญชียาหลักแห่งชาติและสนับสนุนการศึกษาวิจัยในกลุ่มผู้ป่วยที่จำนวนมากขึ้นต่อไป
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2550, September-December
ปีที่: 5 ฉบับที่ 3 หน้า 257-266
คำสำคัญ
Influenza, Andrographis paniculata, SYMPTOM, ฟ้าทะลายโจร, อาการโรค, ไข้หวัดใหญ่