ประสิทธิผลของดนตรีบำบัดร่วมกับโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
สายฝน ทศภาทินรัตน์, เรือนทอง อภิวงศ์, พรสุรีย์ คูวิจิตรสุวรรณ, ฉวีวรรณ แสงสว่าง, นิพนธ์ เชื้อสะอาด, ลักขณา ไทยเครือ*คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อตรวจสอบประสิทธิผลของโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพร่วมกับดนตรีบำบัดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองต่อระดับความวิตกกังวลและความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวัน
วิธีการ : เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่เข้ารับบริการเวชศาสตร์ฟื้นฟูโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ สุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นภูมิ เป็นกลุ่มทดลอง (50 ราย) และกลุ่มควบคุม (51 ราย) ทั้งสองกลุ่มได้รับการรักษาตามโปรแกรมมาตรฐาน 2 สัปดาห์ แต่กลุ่มทดลองได้รับดนตรีบำบัดเพิ่มเติม ประเมินระดับความวิตกกังวลด้วย Zung’s self-rating scale และประเมินระดับความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน (SMNRC functional assessment) ก่อนและหลังการเข้าโปรแกรม
ผล : กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิง (ร้อยละ 53) อายุเฉลี่ย 63.4 ปี (SD = 11.4) หลังรับโปรแกรมฟื้นฟูทั้งสองกลุ่มมีคะแนนความวิตกกังวลลดลงและคะแนนความสามารถในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มทดลองมีระดับความวิตกกังวลลดลงอย่างน้อยหนึ่งระดับมากกว่ากลุ่มควบคุม 1.5 เท่า (95% RR: 1.2 - 1.8) แต่ระดับความสามารถในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการวิเคราะห์ความถดถอยแบบโลจิสติกแบบไม่มีเงื่อนไข และ backward selection stepwise ในปัจจัยเพศ อายุ โรคร่วม ชนิดของโรคเลือดสมอง ระดับความรู้ความเข้าใจอุปกรณ์ติดตัว และดนตรีบำบัด พบว่ากลุ่มที่ได้รับดนตรีบำบัดมีระดับความวิตกกังวลลดลงอย่างน้อยหนึ่งระดับมากกว่ากลุ่มควบคุม 9.72 เท่า (95% CI adjusted OR: 2.57, 36.70)
สรุป : การใช้ดนตรีกระตุ้นร่วมกับโปรแกรมการฟื้นฟูปกติช่วยลดความวิตกกังวลในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้ อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงผลต่อความสามารถในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันในระยะการฟื้นฟูที่ยาวนานขึ้น
ที่มา
วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย ปี 2564, April-June
ปีที่: 29 ฉบับที่ 2 หน้า 149-160
คำสำคัญ
Stroke, Music therapy, ดนตรีบำบัด, Rehabilitation, การฟื้นฟูสมรรถภาพ, โรคหลอดเลือดสมอง, Anxiety, ความวิตกกังวล, การฟืนฟูสมรรถภาพ