คุณภาพชีวิตด้านการใช้ยาในผู้ป่วยนอกโรคซึมเศร้าชาวไทย
พรรณทิพา ศักดิ์ทอง*, ีีรวิกานต์ ระลึกฤาเดช
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อประเมินคุณภาพชีวิตด้านการใช้ยาและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
วิธีการ : ผู้ป่วยนอกโรคซึมเศร้าที่โรงพยาบาลศรีธัญญา จำนวน 138 คน คัดเลือกแบบเจาะจง ระหว่างเดือนเมษายน พ.ศ. 2561 ถึงมีนาคม พ.ศ. 2562 ประเมินคุณภาพชีวิตด้านการใช้ยาด้วยเครื่องมือ Patient-Reported Outcomes Measure of Pharmaceutical Therapy (PROMPT) 16 ข้อ 8 มิติ ได้แก่ การได้รับข้อมูลยาและโรค ความพึงพอใจต่อประสิทธิผลของยา ผลกระทบของการใช้ยาและอาการข้างเคียง ผลกระทบทางจิตใจของการใช้ยา ความสะดวกของการใช้ยา การมียาให้ใช้และ   การเข้าถึงการใช้ยา ความสัมพันธ์ทางการรักษา และคุณภาพชีวิตการใช้ยาโดยรวม วิเคราะห์ถดถอยเชิงเส้นแบบพหุตัวแปรเพื่อหาปัจจัยที่ทำนายคุณภาพชีวิตด้านการใช้ยา
ผล : ค่าเฉลี่ยคะแนนมิติของคุณภาพชีวิตด้านการใช้ยาอยู่ระหว่าง 58 - 80 คะแนน (ระดับปานกลางถึงดีเลิศ) มิติที่ได้คะแนนต่ำสุดคือ การได้รับข้อมูลยาและโรค และมิติที่คะแนนสูงสุดคือ การมียาให้ใช้และการเข้าถึงการใช้ยา ปัจจัยที่สัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตการใช้ยาที่ไม่ดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ อายุน้อย เพศหญิง ระดับการศึกษาต่ำ มีภาระทางการเงิน ใช้ยาจำนวนหลายชนิด มีอาการข้างเคียงจากยา และมีการควบคุมโรคที่ไม่ดี
สรุป : บุคลากรทางการแพทย์ควรให้ข้อมูลยาและโรคแก่ผู้ป่วย และให้ความสำคัญกับปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตด้านการใช้ยา เช่น ภาระทางการเงิน จำนวนยาที่ใช้ต่อวัน อาการข้างเคียงจากยา และการควบคุมโรคของผู้ป่วย ซึ่งอาจส่งผลต่อความร่วมมือในการรักษา
 
 
ที่มา
วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย ปี 2565, July-September ปีที่: 29 ฉบับที่ 3 หน้า 239-248
คำสำคัญ
Depression, Quality of life, QOL, คุณภาพชีวิต, โรคซึมเศร้า, คุณภาพชี่วิต, antidepressant, ยารักษาโรคซึมเศร้า