ผลของโปรแกรมสติบำบัดต่อภาวะซึมเศร้าและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
วิภาวี เผ่ากันทรากร*, นภา จิรัฐจินตนา
สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : ศึกษาผลของโปรแกรมสติบำบัดต่อภาวะซึมเศร้าและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
วิธีการ : เป็นการวิจัยแบบสุ่มที่มีการควบคุม ศึกษาในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำนวน 44 คนที่แผนกผู้ป่วยนอก สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา โดยใช้รูปแบบจับคู่ตามอายุ เพศ และระดับภาวะซึมเศร้า แบ่งเป็นกลุ่มบำบัดและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 22 คน กลุ่มบำบัดได้รับโปรแกรมสติบำบัดจำนวน 8 ครั้ง และกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ ติดตามสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในเดือนที่ 6 ประเมินภาวะซึมเศร้าและคุณภาพชีวิตก่อนและหลังโปรแกรมด้วยแบบประเมินภาวะซึมเศร้าของเบค (Beck Depression Inventory IA) และแบบประเมินคุณภาพชีวิตองค์การอนามัยโลกชุดย่อฉบับภาษาไทย (WHOQOL-BREF-THAI) ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณา สถิติทดสอบไคสแควร์ และสถิติทดสอบค่าที
ผล : กลุ่มบำบัดมีคะแนนเฉลี่ยภาวะซึมเศร้าหลังได้รับโปรแกรมต่ำกว่าก่อนได้รับโปรแกรม (t = 10.71, p < .01) และต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 3.80, p < .01) และมีคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตหลังได้รับโปรแกรมสูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรม (t = - 12.38, p < .01) และสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 3.92, p < .01) การติดตามในเดือนที่ 6 พบว่า ในกลุ่มบำบัดมี 2 คนที่มีอาการกำเริบของโรคซึมเศร้า ในขณะที่ในกลุ่มควบคุมมี 10 คนที่มีอาการกำเริบ
สรุป : ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าโปรแกรมสติบำบัดช่วยลดภาวะซึมเศร้าและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าให้ดีขึ้น
 
 
ที่มา
วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย ปี 2565, October-December ปีที่: 29 ฉบับที่ 4 หน้า 286-296
คำสำคัญ
Depression, Quality of life, คุณภาพชีวิต, ภาวะซึมเศร้า, Major depressive disorder, โรคซึมเศร้า, คุณภาพชี่วิต, Mindfulness-Based Therapy program, โปรแกรมสติบำบัด