ประสิทธิภาพของยากาบาเพนตินในการป้องกันอาการคันจากยามอร์ฟีนที่ใช้ร่วมกับการระงับความรู้สึกทางน้ำไขสันหลังในผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดทางนรีเวชกรรม
เอกราช บุญเสือ*, อรุณีย์ ไชยชมภูกลุ่มวิสัญญี โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์
บทคัดย่อ
ความเป็นมา: การระงับความรู้สึกทางน้ำไขสันหลังร่วมกับการใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ช่วยระงับปวดหลังจากได้รับการผ่าตัดมดลูกแบบผ่านหน้าท้องได้ดีกว่าระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย อาการคันตามร่างกายเป็นผลข้างเคียงที่พบได้มากที่สุดยากาบาเพนตินเป็นยารักษาโรคลมชักที่พบว่าสามารถระงับอาการคันจากบางสาเหตุได้แต่การศึกษาประสิทธิภาพของยากาบาเพนตินขนาด 600 และ 1,200 มิลลิกรัมกับการระงับอาการคันในผู้ป่วยที่ได้รับยามอร์ฟีนร่วมกับการระงับความรู้สึกทางน้ำไขสันหลังได้ผลการศึกษาที่ขัดแย้งกัน
วัตถุประสงค์: ศึกษาประสิทธิผลของยากาบาเพนติน 900 มิลลิกรัม ในการป้องกันอาการคันจากยามอร์ฟีนที่ใช้ร่วมกับยาชาในการระงับความรู้สึกทางน้ำไขสันหลัง เปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยากาบาเพนติน ในผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดทางนรีเวชกรรม
วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาแบบสุ่มไปข้างหน้า ในผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดทางนรีเวชกรรม โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์110 ราย, ผู้ป่วยถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่มแบบสุ่ม คือกลุ่มที่ไม่ได้รับยากาบาเพนติน (กลุ่มที่ 0) และกลุ่มได้รับยากาบาเพนติน 900 มิลลิกรัมก่อนผ่าตัด 2 ชั่วโมง (กลุ่มที่ 1)โดยผู้ป่วยทุกรายได้รับยา 0.5 % hyperbaric bupivacaine 3.0-3.8 มิลลิลิตร ร่วมกับยามอร์ฟีน 0.15 มิลลิกรัมทางน้ำไขสันหลัง ผู้ป่วยได้รับประเมินอาการคันที่1,2,3,4,6,8,12 และ 24 ชั่วโมงหลังได้รับยามอร์ฟีนทางน้ำไขสันหลัง
ผลการศึกษา: ผู้ป่วย 110 คนที่ได้รับการวิเคราะห์ข้อมูล กลุ่มละ 55 คน พบว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับยากาบาเพนตินมีอุบัติการณ์คัน 45 คน กลุ่มที่ได้รับยากาบาเพนตินมีอุบัติการณ์คัน34 คน แตกต่างกันอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ (81.8% vs 61.8%; p=0.033) กลุ่มที่ได้รับยากาบาเพนตินลดคะแนนเฉลี่ยอาการคัน0.32 คะแนน (95% CI -0.53, -0.12; p=0.002)เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยากาบาเพนติน
สรุปและข้อเสนอแนะ: การได้รับยากาบาเพนติน 900 มิลลิกรัมก่อนการผ่าตัด2 ชั่วโมงมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการคันจากยามอร์ฟีนที่ใช้ร่วมการระงับความรู้สึกทางน้ำไขสันหลังดังนั้นจึงแนะนําให้ใช้ยากาบาเพนติน เพื่อลดผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ได้รับยามอร์ฟีนที่ใช้ร่วมกับการระงับความรู้สึกทางน้ำไขสันหลังในผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดทางนรีเวชกรรม
ที่มา
เชียงรายเวชสาร ปี 2564,
ปีที่: 13 ฉบับที่ 3 หน้า 76-89
คำสำคัญ
Spinal anesthesia, intrathecal morphine, pruritus, อาการคัน, Gabapentin, Gynecological surgery, subarachnoid anesthesia, ยากาบาเพนติน, มอร์ฟีนในน้ำไขสันหลัง, ระงับความรู้สึกทางน้ำไขสันหลัง, ผ่าตัดทางนรีเวชกรรม