การให้แคลซิเฟอรอลขนาดสูงเปรียบเทียบกับการให้ทุกสัปดาห์ต่อการเปลี่ยนแปลงความยืดหยุ่นของหลอดเลือดในผู้ป่วยไตเรื้อรังจากเบาหวาน
นภัส วุฒิเลิศเจริญวงศ์*, กรกช พรชัยชนะกิจ, ธนรร งามวิชชุกร
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นครนายก ประเทศไทย
บทคัดย่อ
บทนำ: ภาวะขาดวิตามินดีพบบ่อยในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ซึ่งสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและการเสียชีวิต การให้แคลซิเฟอรอลในผู้ป่วยไตเรื้อรังจะช่วยลดการแข็งตัวของหลอดเลือด ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและการเสียชีวิต ปัจจุบันภาวะขาดวิตามินดีในผู้ป่วยไตเรื้อรัง ให้รักษาเช่นเดียวกันกับประชากรทั่วไป โดยยังไม่มีข้อแนะนำขนาดและระยะเวลาในการรักษาที่ชัดเจน จุดประสงค์ของการวิจัยนี้คือการเปรียบเทียบการให้แคลซิเฟอรอลสองวิธีที่แตกต่างกัน เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงความยืดหยุ่นของหลอดเลือดในผู้ป่วยไตเรื้อรังจากเบาหวาน
วิธีดำเนินการวิจัย: จำนวนประชากรในการศึกษาทั้งหมด 31 คน เป็นโรคเบาหวานชนิดที่สอง มีระดับการกรองของไต 15-59 มิลลิลิตรต่อนาทีต่อ 1.73 ตารางเมตร และมีระดับ 25(OH)D น้อยกว่า 30 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร
นำมาคัดเลือกแบบสุ่มได้กลุ่มละ 15 คน กลุ่มที่หนึ่งรับประทานแคลซิเฟอรัลขนาดสูง (200,000 IU ที่ 0 และ 8 สัปดาห์) กลุ่มที่สองรับประทานแคลซิเฟอรัลทุกสัปดาห์ (40,000 IU ทุกสัปดาห์เป็นเวลา 8 สัปดาห์ หลังจากนั้นรับประทาน 20,000 IU ทุกสัปดาห์) วัดการเปลี่ยนแปลงความยืดหยุ่นของหลอดเลือดด้วย carotid-femoral pulse wave velocity ที่ 10 สัปดาห์ ซึ่งเป็นผลลัพธ์หลักของการศึกษา
ผลการวิจัย: ระดับวิตามินดีเฉลี่ยก่อนรักษาในกลุ่มที่ให้แคลซิเฟอรัลสองครั้งเท่ากับ 18.7 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร
และกลุ่มที่ให้แคลซิเฟอรัลทุกสัปดาห์เท่ากับ 19.9 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร หลังการรักษาพบว่า 10 คน (ร้อยละ 66.7) ในกลุ่มที่ให้แคลซิเฟอรัลสองครั้งมีระดับวิตามินดีเพิ่มขึ้นจนถึงระดับปกติ ได้มากกว่ากลุ่มที่ให้ทุกสัปดาห์ซึ่งมีเพียง 6 คน (ร้อยละ 40) การเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยของ carotid-femoral pulse wave velocity ทั้งสองกลุ่มที่ 10 สัปดาห์ไม่มีความแตกต่างกัน [-0.5 (95%CI -3.15 to 2.15) (p=0.703)] แต่พบว่าในกลุ่มที่ได้รับแคลซิเฟอรัลขนาดสูง cardio-ankle vascular index ลดลงมากกว่าในกลุ่มที่ได้รับแคลซิเฟอรัลทุกสัปดาห์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยทั้งสองกลุ่มไม่มีการรายงานถึงผลข้างเคียง และไม่พบการเปลี่ยนแปลงระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในเลือด
สรุป: ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจากเบาหวาน และมีระดับวิตามินดีน้อยกว่า 30 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร หลังให้การรักษาด้วยแคลซิเฟอรัลสองครั้ง พบว่าสามารถลด cardio-ankle vascular index ที่ 10 สัปดาห์ได้ดีกว่า การรักษา
ด้วยแคซิเฟอรัลทุกสัปดาห์ แต่พบว่าทั้งสองกลุ่มลด carotid-femoral pulse wave velocity ได้ไม่แตกต่างกันอย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ให้แคลซิเฟอรัลสองครั้งพบว่าเพิ่มระดับวิตามินดีได้เร็วกว่า และไม่พบผลข้างเคียงแต่อย่างใด
 
 
ที่มา
Vajira Medical Journal: Journal of Urban Medicine ปี 2564, September-October ปีที่: 65 ฉบับที่ 5 หน้า 363-372
คำสำคัญ
chronic kidney disease, โรคไตเรื้อรัง, calciferol, pulse wave velocity, แคลซิเฟอรอล, ความเร็วคลื่นชีพจรที่ผ่านหลอดเลือด