ผลการใช้นวัตกรรมท่อนำเข้าข้อเข่าชนิดทำเองในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่าในโรงพยาบาลบ้านโป่ง
วุฒิชัย โล่ห์สวัสดิ์กุล
กลุ่มงานออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อรอบบาดแผลผ่าตัด ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า ในกลุ่มที่ใช้กับไม่ใช้นวัตกรรมท่อนำเข้าข้อเข่าชนิดทำเอง
วิธีการศึกษา: โครงการวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบ randomized controlled trial สองกลุ่ม วัดผลหลังการทดลอง โดยการคัดเลือกผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดส่องกล้องภายในข้อเข่า (knee arthroscopic surgery) ที่มารักษาที่โรงพยาบาลบ้านโป่ง ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กลุ่มตัวอย่าง 46 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ใช้กับไม่ใช้นวัตกรรมท่อนำเข้าข้อเข่า ชนิดทำเอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ SPSS version 23 สถิติที่ใช้ ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง 2 กลุ่มด้วย Mann-Whitney U test และ paired t-test
ผลการศึกษา: เปรียบเทียบการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อรอบบาดแผลผ่าตัด โดยพิจารณาผลแทรกซ้อนของบาดแผล และ อาการปวดเมื่อกดที่แผล (portal wound tenderness) ระหว่างสองกลุ่ม ในวันที่ 14 หลังผ่าตัด พบว่า ผลแทรกซ้อนของบาดแผล ไม่มีความแตกต่างระหว่างสองกลุ่ม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น มีเพียงเล็กน้อย ได้แก่ รอยช้ำ (bruise) และรอยแดงรอบรูไหมเย็บ (localised erythema) พบว่าอาการปวดเมื่อกดที่แผล (portal wound tenderness) ในกลุ่มทดลองมีค่าคะแนนความปวด (visual analog scale) ที่น้อยกว่าในกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยเมื่อพิจารณาอาการปวดเมื่อกดที่แผล (portal wound tenderness) ระหว่างแผลทั้งสองด้าน พบว่า ทางด้าน anteromedial portal wound จะมีค่าคะแนนความปวด (visual analog scale) ที่มากกว่าในด้าน anterolateral portal wound อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ทั้งในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม
สรุป: การใช้ท่อนำเข้าข้อเข่าชนิดทำเอง (Banpong Hospital knee portal system) ร่วมในการผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า (knee arthroscopic surgery) จะช่วยลดอาการปวดเมื่อกดที่แผล (portal wound tenderness) หลังการผ่าตัดส่องกล้องในข้อเข่าได้ดีขึ้น ซึ่งบ่งบอกถึงการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อรอบแผลผ่าตัดน้อยลง  รวมถึงเป็นอุปกรณ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นเองได้ง่ายจากสิ่งที่มีอยู่รอบตัว
 
ที่มา
วารสารแพทย์เขต 4-5 ปี 2564, July-September ปีที่: 40 ฉบับที่ 3 หน้า 389-401
คำสำคัญ
innovation, tissue injuries, knee arthroscopic surgery, นวัตกรรม, การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ, การผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า