ต้นทุน-ประสิทธิผลของโครงการรู้ทัน..กันหักซ้ำในผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก โรงพยาบาลเลิดสิน
จุฑาทิพ อาธีรพรรณ*, อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ, ชิตวีร์ เจียมตน, ฉัตรระวี จินดาพล, รมนปวีร์ บุญใหญ่, วรัญญา ทาสมบูรณ์, สุวิภา อุดมพร
โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
บทคัดย่อ
ภูมิหลังและเหตุผล: กระดูกข้อสะโพกหักในผู้สูงอายุเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในทุกประเทศทั่วโลกและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น การรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยใช้เวลานาน ส่งผลให้แต่ละประเทศต้องรับภาระทางการเงิน อัตรากระดูกหักซ้ำภายใน 1 ปีเกิดขึ้นได้ถึงร้อยละ 2-11 การดูแลผู้ป่วยข้อสะโพกหักในปัจจุบันจึงต้องเน้นการป้องกันการหักซ้ำจึงเกิดโครงการรู้ทัน..กันหักซ้ำ(Refracture Prevention) ที่มีการดูแลเป็นสหสาขาวิชาชีพ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ที่จะวิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผลของผู้ป่วยที่มีกระดูกข้อสะโพกหักในโครงการ Refracture Prevention เปรียบเทียบกับการรักษาแบบดั้งเดิม ในมุมมองของผู้ให้บริการสุขภาพ ระเบียบวิธีศึกษา: ทำการเก็บข้อมูลไปข้างหน้าและย้อนหลังของกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม โดยมีกลุ่มควบคุมเป็นกลุ่มผู้ป่วยข้อสะโพกหักที่ได้รับการรักษาแบบดั้งเดิม และกลุ่มทดลองคือกลุ่มที่อยู่ในโครงการ Refracture Prevention ทำการศึกษาในผู้ป่วยที่มีกระดูกข้อสะโพกหักที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเลิดสินกลุ่มละ 130 คน ทำการเก็บข้อมูลต้นทุนนับตั้งแต่วันที่ผู้ป่วยลงทะเบียน (admit) ไปเป็นระยะเวลา 1 ปี แล้วทำการวัดผลการรักษาเป็นอรรถประโยชน์เพื่อหาปีสุขภาวะและจำนวนผู้ป่วยที่ไม่มีกระดูกหักซ้ำและทำการประเมินทางเศรษฐศาสตร์ วิเคราะห์ต้นทุนประสิทธิผลโดยใช้แผนภูมิการตัดสินใจ (decision tree) เปรียบเทียบผลการรักษาและต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการให้การรักษาทั้ง 2 กลุ่ม ผลการศึกษา: กลุ่มที่อยู่ในโครงการ Refracture Prevention มีปีสุขภาวะมากกว่ากลุ่มที่ได้รับการรักษาแบบดั้งเดิมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) และสามารถป้องกันกระดูกหักซ้ำได้มากกว่า อัตรากระดูกหักซ้ำใน 1 ปี ลดลงจากร้อยละ 6.27 เป็น 4.29 และต้นทุนต่อหน่วยของการรักษากระดูกข้อสะโพกหักในโครงการ Refracture Prevention เท่ากับ 139,504 บาทในขณะที่การรักษาแบบเดิมเท่ากับ 150,720 บาท อีกทั้งผู้ป่วยในโครงการRefracture Prevention มีปีสุขภาวะเท่ากับ 0.6023 ในขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแบบดั้งเดิมมีปีสุขภาวะเท่ากับ 0.5106 การรักษาผู้ป่วยข้อสะโพกหักในโครงการ Refracture Prevention จึงมีความคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับการรักษาแบบ ดั้งเดิม สรุปและอภิปราย: รูปแบบการดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่มีข้อสะโพกหักควรเป็นการดูแลแบบ fracture liaison service model ที่มีการร่วมมือกันของสหสาขาวิชาชีพและมีการป้องกันปัจจัยเสี่ยงของกระดูกหักซ้ำจากการเริ่มต้นโครงการในปีแรก พบว่า ต้นทุนหลักมี 3 ส่วนด้วยกันคือ การรักษาด้วยการผ่าตัด การรักษาโรคกระดูกพรุนและการป้องกันการล้ม เปรียบเทียบ กับการรักษาแบบเดิมที่เน้นการรักษาด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว ข้อเสนอแนะในการศึกษาครั้งต่อไปคือ ควรมีการติดตาม ผลของโครงการ Refracture Prevention ในระยะยาว และจากข้อมูลต้นทุน ควรมีการศึกษาถึงภาระทางการเงินของ ประเทศไทย เพื่อทราบขนาดของปัญหาและวางแผนรองรับในอนาคต
 
ที่มา
วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2564, July-September ปีที่: 15 ฉบับที่ 3 หน้า 326-343
คำสำคัญ
cost-effectiveness, ต้นทุน-ประสิทธิผล, Economic evaluation, การประเมินทางเศรษฐศาสตร์, ผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก, refracture prevention, fractured hip patients, การป้องกันกระดูกหักซ้ำ