ผลของการเดินจงกรมต่อการควบคุมความดันโลหิตในผู้ป่วยที่มีประวัติความดันโลหิตสูงวิกฤต
สุภาพ อิ่มอ้วน*, แพรว โคตรรุฉิน, ฐปนวงศ์ มิตรสูงเนิน, มณีนุช ดอมไธสงแผนกการพยาบาลอุบัติเหตุและฉุกเฉิน งานบริการพยาบาล โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
ผู้ป่วยที่มีประวัติความดันโลหิตสูงวิกฤตที่ควบคุมความดันโลหิตไม่ได้ตามเป้าหมาย มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง และอาจเสียชีวิตได้ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการเดินจงกรมต่อการควบคุมความดันโลหิตในผู้ป่วยที่มีประวัติความดันโลหิตสูงวิกฤต โดยเป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม ในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระหว่างเดือนสิงหาคม 2563 ถึงเดือนมีนาคม 2564 กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง 64 คน แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง กลุ่มละ 32 คน กลุ่มทดลองเดินจงกรม 20 นาที ทุกวัน จำนวน 30 วัน พระสงฆ์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่นเป็นผู้สอนเดินจงกรม จนผู้ป่วยสามารถทำได้อย่างถูกต้อง ทั้งสองกลุ่มได้รับการรักษาและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามมาตรฐาน และวัดความดันโลหิตที่บ้านทุกวัน เปรียบเทียบความดันโลหิตก่อนและหลังเดินจงกรมโดยใช้การทดสอบที (วันที่ 0 และ 30)
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มทดลองมีความดันโลหิตช่วงหัวใจบีบตัวหลังเดินจงกรม (systolic blood pressure,SBP) ลดลงต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่เดินจงกรมเฉลี่ย 5.80 มิลลิเมตรปรอทอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (95% CI-1.82, -9.79,p<0.01) เช่นเดียวกันกับความดันโลหิตช่วงหัวใจคลายตัว (diastolic blood pressure, DBP) ซึ่งพบว่ากลุ่มเดินจงกรมลดลงต่ำกว่ากลุ่มไม่เดินจงกรมเฉลี่ย 5.61 มิลลิเมตรปรอท (95% CI-1.31, -9.91, p<0.01) จากผลการศึกษาสามารถสรุปได้ว่าการเดินจงกรมมีประสิทธิผลและสามารถนำไปใช้เป็นการบำบัดเสริมกับการรักษาปกติในผู้ป่วยที่มีประวัติความดันโลหิตสูงวิกฤตเพื่อให้ควบคุมความดันโลหิตได้ดีขึ้น
ที่มา
วารสารพยาบาลศาสตร์และสุขภาพ ปี 2565, January-March
ปีที่: 45 ฉบับที่ 1 หน้า 47-60
คำสำคัญ
Walking meditation, mindfulness, alternative therapy, hypertensive crises, การรักษาทางเลือก, ความดันโลหิตสูงวิกฤต, เจริญสติ, เดินจงกรม