การศึกษาระยะเวลาการเริ่มหลั่งขอน้ำนมเต็มเต้าในมารดาผ่าตัดคลอดฉุกเฉิน เปรียบเทียบระหว่างการรับประทานอาหารตามขั้นตอนกับการรับประทานอาหารเร็วด้วยน้ำขิงและน้ำเปล่า ของโรงพยาบาลพุุทธโสธร
ยุทธนา จันวะโร
กลุ่มงานสูติ-นรีเวชกรรม โรงพยาบาลพุทธโสธร
บทคัดย่อ
ที่มาของปัญหา: มารดาที่คลอดผ่าตัดฉุกเฉิน ส่วนใหญ่ระยะเวลาการเริ่มหลั่งน้ำนมช้า มีรายงานว่าการลดระยะเวลาการเริ่มรับประทานอาหารหลังผ่าตัดคลอด จะเป็นการกระตุ้นการหลั่งน้ำนมให้เร็วขึ้น ประกอบกับขิงเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์กระตุ้นการไหลของน้ำนม การปรวะยุกต์ทั้งสองวิธีร่วมกันจึงอาจเป็นประโยชน์ในการทำให้ระยะเวลาการเริ่มหลั่งน้ำนมหลังคลอดของมารดาผ่าตัดคลอดฉุกเฉินเร็วขึ้น
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาระยะเวลาการเริ่มหลั่งของน้ำนมเต็มเต้าในมารดาผ่าตัดคลอดฉุกเฉินเปรียบเทียบระหว่างการรับประทานอาหารตามขั้นตอนกับการรับประทานอาหารเร็วด้วยน้ำเปล่าและน้ำขิง
วิธีการศึกษา: การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาแบบ Randomized Control trial เก็บข้อมูลจากมารดาที่ได้รับการผ่าตัดคลอดฉุกเฉิน และไม่มีภาวะแทรกซ้อน จำนวน 105 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 35 ราย ได้แก่ กลุ่มที่รับประทานอาหารเร็วโดยรับประทานน้ำขิง กลุ่มที่รับประทานอาหารเร็วด้วยน้ำเปล่า และกลุ่มที่รับประทานอาหารตามขั้นตอนโดยผู้เข้าร่วมวิจัยทุกคนได้รับรู้ข้อมูลเรื่องอาการ และอาการแสดงของการเริ่มหลั่งน้ำนมเต็มเต้า บันทึกระยะเวลากาเริ่มหลั่งของน้ำนมเต็มเต้าของมารดาทั้งสามกลุ่ม
ผลการศึกษา: กลุ่มที่รับประทานอาหารเร็วด้วยน้ำขิง กลุ่มที่รับประทานอาหารเร็วด้วยน้ำเปล่า และกลุ่มที่รับประทานอาหารตามขั้นตอน มีระยะเวลาการเริ่มหลั่งของน้ำนมเต็มเต้าที่ 35.3+0.9, 41.0+10.0 และ 50.0+10.1 ตามลำดับโดยกลุ่มที่รับประทานอาหารเร็วด้วยน้ำขิงระยะเวลาการหลั่งน้ำนมเต็มเต้าเร็วกว่ากลุ่มที่รับประทานอาหารเร็วด้วยน้ำเปล่า อย่างมีนัยยสำคัญทางสถิติ (p=0.02) และกลุ่มที่รับประทานอาหารที่รับประทานอาหารเร็วด้วยน้ำเปล่ามีระยะเวลาการหลั่งของน้ำนมเต็มเต้าเร็วกว่ากลุ่มที่รับประทานอาหารตามขั้นตอนอย่างมีนัยยสำคัญทางสถิติ (p<0.001)
สรุป: มารดาที่ผ่าตัดคลอดฉุกเฉินที่รับประทานอาหารเร็วขึ้นด้วยน้ำขิงมีระยะเวลาการหลั่งน้ำนมเต็มเต้าเร็วกว่ากลุ่มที่รับประทานอาหารเร็วด้วยน้ำเปล่า และกลุ่มที่รับประทานอาหารตามขั้นตอน โดยไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง
 
ที่มา
วารสารศูนย์การศึกษาแพทยศาสตร์คลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า ปี 2565, April-June ปีที่: 39 ฉบับที่ 2 หน้า 161-169
คำสำคัญ
Lactation, emergency cesarean delivery, procedures conventional feeding, the early feeding, การเริ่มหลั่งของน้ำนมเต็มเต้า, การผ่าตัดคลอดฉุกเฉิน, การรับประทานอาหารเร็ว, การรับประทานอาหารตามขั้นตอน