การศึกษาโดยการสุ่มตัวอย่างเพื่อเปรียบเทียบการรักษาโรค Leber Hereditary Optic Neuropathy (LHON) ด้วยขมิ้นชันและยาหลอก
วณิชา ชื่นกองแก้ว*, นพศักดิ์ ผาสุขกิจวัฒนา, พัชรีย์ วิชยานุวัติ, รัตยา ลือชาพุฒิพร, ชฎา พิศาลพงศ์, วิษณุ ธรรมลิขิตกุล, นิพนธ์ จิรภาไพศาล, ศิริวรรณ โลเกตุ
ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพมหานคร 10700
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาการใช้ขมิ้นชันซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระในการรักษาโรค Leber Hereditary Optic Neuropathy (LHON) ที่มีการกลายพันธุ์ของยีนไมโตคอนเดรียที่ตำแหน่ง G11778A เปรียบเทียบกับการใช้ยาหลอก โดยการวัดผลระดับสายตาและสารอนุมูลอิสระในกระแสเลือด
วัสดุและวิธีการ: ทำการศึกษาโดยการสุ่มตัวอย่างในผู้ป่วยโรค Leber Hereditary Optic Neuropathy (LHON) ที่มีการกลายพันธุ์ของยีนไมโตคอนเดรียที่ตำแหน่ง G11778A จำนวน 49 คน (97 ตา) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับขมิ้นชันชนิดแคปซูลรับประทานขนาด 500 มิลลิกรัมต่อวัน กลุ่มที่สองได้รับยาหลอก เป็นเวลา 48 สัปดาห์ติดต่อกันและวัดระดับสายตา ลานสายตา ชนิด Humphrey ตรวจประสาทตาและจอประสาทตาด้วยคลื่นไฟฟ้า ก่อนและหลังเริ่มให้ยา ในสัปดาห์ที่ 12, 24, 36 และ 48 สัปดาห์ ในกลุ่มที่ 1 และ 2 ตรวจวัดระดับ oxidative stress ได้แก่ ระดับ malondialdehyde (MDA) ในพลาสมา ระดับ superoxide
dismutase (SOD), catalase, glutathione peroxidase (GSH-Px) and total glutathione (GSH) เม็ดเลือดแดง ที่สัปดาห์ที่ 0, 12, 24 และ 48 บันทึกอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังการให้ยา
ผลการศึกษา: จากการสุ่มตัวอย่าง มีผู้ป่วยจำนวน 27 คน (53 ตา) ได้รับขมิ้นชัน และ 22 คน (44 ตา) ได้รับยาหลอก ทำการศึกษาเปรียบเทียบ อายุที่เริ่มมีอาการ ระดับสายตาและระยะเวลาที่มีอาการโรค LHON ไม่พบความแตกต่างของระดับสายตาและสารอนุมูลอิสระ ในกลุ่มที่ศึกษาทั้ง 2 กลุ่ม ในกลุ่มขมิ้นชัน พบค่าลานสายตาที่สัปดาห์ที่ 36 และ 48 ดีขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ (P = 0.027) ค่า GSH-Px ที่ลดลงแสดงถึงค่า oxidative status ดีขึ้นในกลุ่มขมิ้นชัน ไม่พบอาการแทรกซ้อนในกลุ่มการศึกษาทั้ง 2 กลุ่ม
สรุป: ผลการใช้ขมิ้นชันไม่มีผลต่อระดับสายตา และ ค่า oxidative status ในเลือด ในกลุ่มขมิ้นชัน พบค่าลานสายตาที่ดีขึ้น อย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ GSH-Px ที่ลดลงแสดงถึงค่า oxidative status ดีขึ้นในกลุ่มขมิ้นชัน ตลอดจนเกิดความปลอดภัยจึงควรมีการศึกษาการใช้ขมิ้นขันขนาดสุงในการรักษาโรคดังกล่าวต่อไป
 
ที่มา
จักษุเวชสาร ปี 2565, January-June ปีที่: 36 ฉบับที่ 1 หน้า 1-14
คำสำคัญ
Curcuminoids, Leber hereditary optic neuropathy (LHON), 11778 mutation