ผลของโปรแกรมการส่งเสริมการเผชิญปัญหาที่บ้านในผู้รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง : การวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มชนิดมีกลุ่มควบคุม
สุนันทา ตั้งนิติพงศ์, นัทธมน วุทธานนท์*, ลินจง โปธิบาล, โรจนี จินตนาวัฒน์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะทุพพลภาพและพึ่งพิง ส่งผลให้ผู้รอดชีวิตเกิดความเครียดและขาดแรงจูงใจในการฟื้นฟูสภาพของตนเอง การช่วยให้ผู้รอดชีวิตคงไว้ซึ่งความผาสุกทางใจและความร่วมมือในการฟื้นฟูสภาพเป็นสิ่งจำเป็น การวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มชนิดมีกลุ่มควบคุมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการส่งเสริมการเผชิญปัญหาที่บ้านต่อความผาสุกทางใจและความร่วมมือในการฟื้นฟูสภาพในผู้รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองทางภาคเหนือของประเทศไทย โปรแกรมนี้พัฒนาจากรูปแบบกระบวนการความเครียด ผู้รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองจำนวน 62 คน ได้รับการสุ่มเข้ากลุ่มทดลอง (n = 30) และกลุ่มควบคุม (n = 32) กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการส่งเสริมการเผชิญปัญหาที่บ้านร่วมกับการดูแลตามปกติ ในขณะที่กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติเท่านั้น การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบวัดความผาสุกทางใจ และแบบวัดความร่วมมือในการฟื้นฟูสภาพวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา การทดสอบที และการวิเคราะห์ความแปรปรวนสองทางแบบวัดซ้ำ
ผลการศึกษาพบว่าคะแนนเฉลี่ยความผาสุกทางใจและความร่วมมือในการฟื้นฟูสภาพของกลุ่มทดลองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในสัปดาห์ที่ 6 และ 12 หลังสิ้นสุดโปรแกรม นอกจากนี้พบว่าค่าเฉลี่ยคะแนนความผาสุกทางใจของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในสัปดาห์ที่ 6 และสัปดาห์ที่ 12 ขณะที่ค่าเฉลี่ยคะแนนความร่วมมือในการฟื้นฟูสภาพระหว่างกลุ่มไม่แตกต่างกัน ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าโปรแกรมสามารถเพิ่มความผาสุกทางใจแก่ผู้รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองได้ ทั้งนี้โปรแกรมควรจะได้รับการทดสอบเพิ่มก่อนจะนำไปใช้
ที่มา
Pacific Rim International Journal of Nursing Research ปี 2565, October-December
ปีที่: 26 ฉบับที่ 4 หน้า 585-599
คำสำคัญ
Rehabilitation, adherence, COPING, psychological well-being, Stroke survivors, การดูแลที่บ้าน, การเผชิญปัญหา, Home-based care, ความร่วมมือในการฟื้นฟูสภาพ, ความผาสุกทางใจ, ผู้รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง