ผลของการควบคุมอุณหภูมิ 3วิธีในทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นหลังได้รับการรักษาโดยการส่องไฟ
มารศรี ศิริสวัสดิ์โรงพยาบาลนครพนม
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง เพื่อศึกษาถึงการควบคุมอุณหภูมิกายของทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีอุณหภูมิกายสูงขึ้นหลังได้รับการรักษาโดยการส่องไฟ ต่างกัน 3 วิธี คือ 1) การค่อยๆลดอุณหภูมิตู้อบตาม Neutral thermal environment temperature (NTET) หลังตรวจพบว่ามีภาวะอุณหภูมิกายสูง 2) การลดอุณหภูมิตู้อบลงทันที 1องศาเซลเซียสหลังส่องไฟแล้วค่อยลดตาม NTETหลังตรวจพบว่ามีภาวะอุณหภูมิกายสูง 3) การลดอุณหภูมิตู้อบลง 1 องศาเซลเซียสหลังตรวจพบว่ามีอุณหภูมิกายสูงแล้วค่อยลดตามNTET ที่เวลา 15, 30,45 และ60นาทีขณะที่มีการควบคุมอุณหภูมิ และที่เวลา 1, 4, 8, 12, 16, 20 และ24 ชั่วโมงหลัง มีการควบคุมอุณหภูมิ ศึกษาที่ ไอซียูเด็กโรงพยาบาลนครพนมระหว่างเดือนตุลาคม 2555 ถึง มีนาคม 2556 กลุ่มตัวอย่างเป็นทารกคลอดก่อนกำหนดที่เข้ารับการรักษาที่ไอซียูเด็กโรงพยาบาลนครพนม จำนวน 30 ราย แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 3 กลุ่ม จำนวนเท่ากัน สุ่มเข้ากลุ่มด้วยวิธีจับสลาก เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองได้แก่ ตู้อบชนิดผนังสองชั้น เครื่องส่องไฟสำหรับภาวะตัวเหลือง (Phototherapy Lamp) ปรอทวัดอุณหภูมิทางรักแร้ ปรอทวัดอุณหภูมิห้อง นาฬิกาจับเวลา เครื่องวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเม็ดเลือด 2) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลทั่วไปของทารกคลอดก่อนกำหนดแบบบันทึกข้อมูลในขณะและหลังควบคุมอุณหภูมิ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way analysis of variance) และเปรียบเทียบความแตกต่างรายคู่ด้วยการทดสอบแบบเชฟเฟ (Scheffe)
ผลการวิจัยพบว่า ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิกายทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีภาวะอุณหภูมิกายสูงขึ้นหลังได้รับการรักษาโดยการส่องไฟ ในกลุ่มทดลองทั้ง 3 กลุ่มระหว่างมีการทดลอง ที่เวลา 15 นาทีไม่แตกต่างกัน ที่เวลา 30, 45, 60 แตกต่างกันโดยกลุ่มที่ 2 มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่ากลุ่มทดลองที่ 1 และ ที่ 3 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนกลุ่มทดลองที่1กับกลุ่มทดลองที่ 3 มีค่าเฉลี่ยไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิกายทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีภาวะอุณหภูมิกายสูงหลังได้รับการรักษาโดยการส่องไฟ ในกลุ่มทดลองทั้ง3กลุ่มหลังการทดลอง ที่เวลา 1, 4, 8, 12 ,16, 20 และ24 ชั่วโมงไม่แตกต่างกัน ระยะเวลาที่ใช้ในการควบคุมอุณหภูมิกายทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีภาวะอุณหภูมิกายสูงหลังได้รับการรักษาโดยการส่องไฟ ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติในกลุ่มทดลองทั้ง 3 กลุ่มกันขณะที่มีการควบคุมอุณหภูมิ กลุ่มที่ 2และ3 ดีที่สุดคือใช้ เวลา 30 นาที ส่วนกลุ่มที่1ใช้เวลา 45 นาที และระยะเวลาในการคงไว้ซึ่งอุณหภูมิปกติของร่างกายทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีภาวะอุณหภูมิกายสูงหลังได้รับการรักษาโดยการส่องไฟ หลังการทดลอง ที่เวลา 1 ชั่วโมง และ ทุก 4 ชั่วโมง ภายใน 24 ชั่วโมง พบว่าไม่แตกต่างกัน
ที่มา
Nakhonphanom Hospital Journal ปี 2557, January-April
ปีที่: 1 ฉบับที่ 1 หน้า 29-40
คำสำคัญ
phototherapy, ทารกคลอดก่อนกำหนด, hyperthermia, premature, temperature regulation, ภาวะอุณหภูมิกายสูง, ภาวะตัวเหลือง, การรักษาโดยการส่องไฟ, การควบคุมอุณหภูมิกาย