ผลของการออกกำลังกายด้วยตารางเก้าช่องต่อความดันโลหิตขณะพัก และความแข็งแรงของขาในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
มัฐยา ทาสมบูรณ์, รวยริน ชนาวิรัตน์, สาวิตรี วันเพ็ญ, พรรณี ปิงสุวรรณ, สุภาภรณ์ ผดุงกิจ, พลลพัฏฐ์ ยงฤทธิปกรณ์, เสาวนีย์ นาคมะเร็ง*สาขาวิชากาาภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทคัดย่อ
ที่มาของปัญหา: ภาวะหมดประจำเดือนร่วมกับอายุที่เพิ่มมากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดรวมถึงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ลดลง การออกกำลังกายจึงถูกแนะนำเพื่อชะลอผลเสียในช่วงวัยหมดประจำเดือน
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลการออกกำลังกายแบบตารางเก้าช่องต่อความดันโลหิตขณะพักและความแข็งแรงของขาในหญิงหมดประจำเดือน
วิธีการศึกษา: การศึกษา 6 สัปดาห์ ในหญิงวัยหมดประจำเดือน 20 คน ช่วงอายุ 50-59 ปี แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มออกกำลังกาย: หญิงหมดประจำเดือน 10 คน ออกกำลังกายด้วยตารางเก้าช่องที่ความหนักระดับปานกลาง วันละ 40 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ และ 2) กลุ่มควบคุม: หญิงหมดประจำเดือน 10 คน ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ความดันโลหิตขณะพักและการทดสอบลุกนั่ง 5 ครั้ง ถูกประเมินก่อนเข้าร่วมงานวิจัยและสัปดาห์ที่ 6 และทดสอบสมมติฐานโดยใช้สถิติ Paired t-test และ Student t-test
ผลการศึกษา: อาสาสมัครมีอายุเฉลี่ย 55.4±3.0 ปี ความดันโลหิตซิสโตลิกเริ่มต้น 124.4±8.8 มิลลิเมตรปรอท หลังออกกำลังกายแบบตารางเก้าช่อง 6 สัปดาห์ พบว่า ความดันโลหิตซิสโตลิกลดลง 8 มิลลิเมตรปรอท (115.9±7.9 มิลลิเมตรปรอท: p<0.001) และเวลาที่ใช้ในการลุกนั่ง 5 ครั้งมีค่าต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ร้อยละ 13 (กลุ่มควบคุม 6.9±0.7 วินาที, กลุ่มออกกำลังกาย 5.9±0.5 วินาที)
สรุป: การออกกำลังกายด้วยตารางเก้าช่องช่วยควบคุมความดันโลหิตขณะพักและพัฒนาความแข็งแรงของขาในหญิงวัยหมดประจำเดือนได้
ที่มา
วารสารศูนย์การศึกษาแพทยศาสตร์คลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า ปี 2565, January-March
ปีที่: 39 ฉบับที่ 1 หน้า 89-96
คำสำคัญ
Menopausal women, Exercise, การออกกำลังกาย, Blood pressure, ความดันโลหิต, ตารางเก้าช่อง, leg strength, nine-square exercise, วัยหมดประจำเดือน, ความแข็งแรงของขา