ผลของการทาครีมยาชาเปรียบเทียบกับการฉีดยาที่ปากมดลูกเพื่อลดความเจ็บปวดในการตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า
กชนิภา แพทยานันท์*, ชินวัฒน์ ศรีนิล
Department of Obstetrics and Gynecology, Khon Kaen Hospital, Khon Kaen 40000, Thailand; E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลการลดความเจ็บปวดในผู้ป่วยที่เข้ารับการทำหัตถการตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า โดยการ ทาครีมยาชาเปรียบเทียบกับการฉีดยาชาที่ปากมดลูก
วัสดุและวิธีการ: สตรีที่เข้ารับการทำหัตถการตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้าที่โรงพยาบาลขอนแก่น จำนวน 60 คน ถูกสุ่มแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ได้รับการทาครีมยาชาที่ปากมดลูก และกลุ่มที่ 2 ได้รับการฉีดยาชาที่ปากมดลูกก่อนทำหัตถการตัด ปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า สตรีทั้งสองกลุ่มได้รับการประเมินความเจ็บปวดขณะใช้เครื่องมือถ่างขยายช่องคลอด ขณะฉีดยาชาที่ ปากมดลูกหรือทาครีมยาชาที่ปากมดลูก ระหว่างทำหัตถการตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า หลังทำหัตถการตัดปากมดลูกด้วยห่วง ไฟฟ้าเสร็จทันที และหลังทำหัตถการตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้าเสร็จนาน 30 นาที โดยใช้เครื่องมือวัดความเจ็บปวดประกอบ ด้วยเส้นตรงยาว 10 เซนติเมตร รวมถึงมีการประเมินภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาและความต้องการยาแก้ปวดชนิดอื่นเพิ่มเติม
ผลการศึกษา: ข้อมูลลักษณะพื้นฐานทางประชากรศาสตร์ของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน คะแนนความเจ็บปวดระหว่างการทำหัตถการตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้าในกลุ่มที่ทาครีมยาชาที่ปากมดลูก (กลุ่มทดลอง) ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทาง สถิติกับกลุ่มฉีดยาชาที่ปากมดลูก (กลุ่มควบคุม) (ค่าเฉลี่ยคะแนนความเจ็บปวด ± ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของกลุ่มทดลอง และ กลุ่มควบคุมมีค่า 5.53 ± 0.46, 95%CI 4.60-6.47 เทียบกับ 4.59 ± 0.44, 95%CI 3.68-5.50, p = 0.145 ) แต่พบว่า คะแนน ความเจ็บปวดระหว่างการให้ยาบรรเทาความเจ็บปวดก่อนทำหัตถการในกลุ่มที่ทาครีมยาชาที่ปากมดลูก (กลุ่มทดลอง) น้อย กว่ากลุ่มฉีดยาชาที่ปากมดลูก (กลุ่มควบคุม) (ค่าเฉลี่ยคะแนนความเจ็บปวด ± ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของกลุ่มทดลอง และ กลุ่มควบคุมมี 1.20 ± 0.29, 95%CI 0.60-1.80 เทียบกับ 3.62 ± 0.48, 95%CI 2.64-4.60, p < 0.001) อย่างมีนัยสำคัญทาง สถิติ และไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงในทั้งสองกลุ่ม
สรุป: ประสิทธิภาพในการบรรเทาความเจ็บปวดระหว่างการทำหัตถการตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้าในกลุ่มที่ทาครีมยาชาที่ ปากมดลูกไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม แต่การทาครีมยาชาที่ปากมดลูกสามารถลดความเจ็บปวดระหว่างให้ยาบรรเทาความ เจ็บปวดก่อนทำหัตถการได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการใช้ยา
 
ที่มา
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2566, January-February ปีที่: 31 ฉบับที่ 1 หน้า 40-47
คำสำคัญ
Visual analog scale, Loop electrosurgical excision procedure, lidocaine prilocaine cream, LEEP, intracervical injection