ผลการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ต่ออาการไม่สุขสบายและคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะประคับประคอง
วิธวินท์ ฝักเจริญผล*, วรยศ ดาราสว่าง
กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ประเทศไทย 31000
บทคัดย่อ
หลักการและเหตุผล: ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะท้ายจำนวนมากต้องเผชิญกับอาการไม่สุขสบาย เช่น อาการปวด เบื่ออาหาร หายใจเหนื่อย นอนไม่หลับ ซึ่งยาในขนานปัจจุบันยังไม่สามารถตอบสนอง ต่ออาการบางอย่างได้ดีจึงได้มีการนำสารสกัดกัญชาทางการแพทย์มาใช้เป็นทางเลือกในผู้ป่วยกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตามการศึกษาถึงผลของการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ในผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะ ประคับประคองยังคงมีจำกัด งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ต่ออาการไม่สุขสบายและคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งระยะประคับประคอง
วิธีการศึกษา: การศึกษานี้เป็นการวิจัยในกลุ่มเดียวชนิดกึ่งทดลองที่มีการเก็บข้อมูลก่อนและหลัง (Quasi- Experimental study with one group pretest-posttest design) ใช้การเก็บข้อมูลไปข้างหน้าในผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะประคับประคองที่ใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2564 - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 จำนวน 50 คน วัดผลจากแบบประเมินอาการไม่สุขสบาย Edmonton symptom assessment scale (ESAS) มี ค่าความเชื่อมั่น Cronbach's alpha ที่ 0.75 และแบบประเมินคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพแบบทั่วไป EQ-5D-5L ฉบับภาษาไทย มีความเที่ยงใน การทดสอบซ้ำอยู่ใน ระดับดี (intra-class correlation coefficient = 0.89) โดยเปรียบเทียบคะแนนอาการไม่สุขสบาย ค่าคะแนนอรรถประโยชน์คุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ก่อนและหลังการใช้กัญชาทางการแพทย์เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยใช้สถิติ Pair T-test โดยกำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05
ผลการศึกษา: ผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งหมด จำนวน 50 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง 28 ราย คิดเป็นร้อยละ 56 มีอายุเฉลี่ย 67.4 ปี ส่วนใหญ่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal cancer) จำนวน 19 ราย คิดเป็นร้อยละ 38 เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างก่อนและหลัง การใช้สารสกัดกัญชา ทางการแพทย์ พบว่าอาการไม่สุขสบาย ที่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ อาการคลื่นไส้อาเจียน (p-value < 0.001) อาการเบื่ออาหาร (p-value =0.007) และอาการเหนื่อยเพลีย (p-value =0.001) ส่วนคุณภาพชีวิต ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value=0.227)
สรุป: การใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์มีประโยชน์ในการบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน อาการเบื่ออาหารและอาการเหนื่อยเพลียในผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะประคับประคอง จึงควรมีการสนับสนุน เชิงนโยบายให้มีการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ในผู้ป่วยกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น
 
ที่มา
วารสารการแพทย์โรงพยาบาลศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ปี 2566, January-April ปีที่: 38 ฉบับที่ 1 หน้า 53-62
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, คุณภาพชี่วิต, palliative care, medical cannabis, end-stage cancer patient, distressing symptoms, สารสกัดกัญชาทางการแพทย์, ผู้ป่วยมะเร็งระยะประคับประคอง, อาการไม่สุขสบาย